วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไม่ผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาฎีกาที่ 5483/2543
                โจทก์ทำสัญญาเช่าร้านอาหารพิพาทจากจำเลยที่ ๑ ต่อมา จำเลยที่ ๒ กับชายคนหนึ่งซึ่งพกอาวุธปืนติดตัวได้พากันไปที่ร้านอาหารพิพาทซึ่งมีลูกจ้างโจทก์เฝ้าดูแลอยู่ จำเลยที่ ๒ สั่งลูกจ้างโจทก์ให้ออกจากร้าน มิฉะนั้นจะปิดกุญแจขัง ลูกจ้างโจทก์กลัวจึงยอมออกจากร้าน
                จำเลยที่ ๒ ได้ปิดกุญแจร้านอาหารพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถประกอบกิจการร้านอาหารและไม่สามารถนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของโจทก์ ซึ่งซื้อมาใช้ในการประกอบกิจการออกจากร้านอาหารพิพาทได้ หลังจากนั้นอีก ๓ ถึง ๔ วัน จำเลยที่ ๑ ได้ให้บุคคลอื่นเข้าทำกิจการร้านอาหารพิพาทแทน โจทก์ยังได้นำสืบอีกว่า ไม่เคยค้างชำระค่าเช่าจำเลยที่ ๑
              ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุก ตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔ และ ๓๖๕ จึงมีมูล ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าตามสัญญา จึงไม่ชอบ
              จำเลยที่ ๒ ให้ จ.ออกจากร้านอาหารพิพาทเพื่อปิดร้าน มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5599 / 2531
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337
                ป. เป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่จำเลยขอให้ช่วยสืบหาคนร้ายที่ลักกระบือของตน เมื่อ ป. นัดผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกบ้านให้มาเจรจากับจำเลย ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจว่า ผู้เสียหายเป็นคนร้าย
                การที่จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายเป็นค่ากระบือที่ถูกลักเอาไป เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหาย โดยมี ป. ผู้ใหญ่บ้านฝ่ายผู้เสียหายเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยให้ จนผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยตามที่ ป. พูดไกล่เกลี่ย เป็นการใช้สิทธิของตนโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาฎีกาที่ 2688 / 2530
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337
              จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายได้ลักเอาสติกเกอร์ของห้างซึ่งจำเลยมีหน้าที่ช่วยดูแลกิจการอยู่ไป การที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับให้ห้าง 30 บาท ถ้าไม่ยอมจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงิน 30 บาท เพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการของห้างชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ การที่จำเลยให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับ เท่ากับเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อตกลงเลิกคดีกัน จำเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก

ผิดฐานกรรโชก

มาตรา 337  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                   ถ้าความผิดฐานกรรโชก ได้กระทำโดย 
                   (1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ให้ผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
                   (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
                   ผู้กระทำต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1199/2553
ป.อ. มาตรา 80, 337 วรรคแรก
            ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหาย กับบุตร ภรรยา จะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่า เป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหาย ให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เกิดต่อเนื่องจากวันที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย กับภรรยาผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัว กระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน จึงถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ฉะนั้น แม้ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกตรวจค้นจับกุมโดยที่ยังไม่ทันได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหาย จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหาย แต่ระบุชื่อภรรยาผู้เสียหาย ก็หาเป็นสาระสำคัญไม่
          กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติ ภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จำเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม
(*ความเห็นผู้เรียบเรียง - เห็นว่า การใช้สิทธิโดยชอบธรรม ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลนั้นชอบที่จะกระทำตามขั้นตอนวิธีการที่กฎหมายให้สิทธิไว้เท่านั้น แต่ถ้ากระทำนอกเหนือจากกฎหมายให้สิทธิไว้ ย่อมถือว่าไม่ได้ใช้สิทธิโดยชอบธรรม เช่น กล่าวถ้อยคำว่า "...จะเดือดร้อน เพราะอายุยังน้อย" จึงมีนัยยะว่า "ผู้ถูกขู่เข็ญจะอายุสั้น" โดยที่ตนไม่มีสิทธิที่จะกล่าวหรือกระทำตามคำกล่าวแบบนั้น ส่วนที่กฎหมายบัญญัติว่า "จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น" ย่อมหมายถึง มีพฤติการณ์แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าผู้ถูกข่มขืนใจยอมทำตามที่ถูกขู่เข็ญแล้ว แม้ว่ายังไม่ได้ยื่นทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จ ที่เกินกว่าขั้นพยายามไปแล้ว) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889 / 2550
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
             จำเลยใช้อาวุธปืนจ้องมาทางผู้เสียหายและขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงินแก่มารดาจำเลยเพื่อชำระหนี้ ถ้าไม่นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่มารดาจำเลย จำเลยจะฆ่าผู้เสียหายอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายจนผู้เสียหายกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จึงยอมมอบเงินให้มารดาจำเลย ตามที่จำเลยขู่เข็ญ โดยผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้ อันเป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่ง ป.วิ.พ. ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นให้มารดาจำเลย และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด
(*ความเห็นผู้เรียบเรียง - เห็นว่า ในคดีนี้กฎหมายบัญญัติให้จำเลยสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายนำเงินมาชำระหนี้ได้ แต่จำเลยจะไปขู่เข็ญว่าจะฆ่าผู้เสียหายอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นไม่ได้) 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550
             จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง
              ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1484/2549
            จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินจำนวน 5,500 บาท มามอบให้เพื่อเป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และหากไม่นำมาให้ จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนและจำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ คือ ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 ไป ซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงินจำนวน 5,500 บาท ไปให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ฉ้อโกงโดยชักชวนให้เล่นการพนัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2555
ป.อ. ฉ้อโกง หลายกรรม (มาตรา 341, 91)
ป.วิ.อ. ผู้เสียหาย (มาตรา 2 (4))
              จำเลยกับพวกมีเจตนาร่วมกันทุจริตมาแต่แรกโดยหลอกลวงว่า จะซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมไปพบจำเลย ซึ่งพวกของจำเลยอ้างว่าเป็นเถ้าแก่จะซื้อที่ดิน จำเลยกับพวกกลับชักนำให้โจทก์ร่วม ร่วมลงหุ้นเล่นการพนันกับพวกของจำเลย โจทก์ร่วมต้องเสียเงินที่ลงหุ้นไป 900,000 บาท แล้วจำเลยกับพวกยังหลอกลวงให้โจทก์ร่วมส่งเงินให้อีก 100,000 บาท อ้างว่าจะนำไปไถ่ถอนที่ดินที่จำนองแล้วจำนองใหม่ เพื่อนำเงินไปเล่นการพนันแก้มือ โจทก์ร่วมส่งเงินให้แล้ว ติดต่อจำเลยไม่ได้ และไม่มีการเล่นการพนันแก้มือ
              พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกดังกล่าว หากไม่มีการนัดแนะและร่วมกันวางแผนมาก่อน ผลจะเกิดสอดคล้องกันไม่ได้ การติดต่อขอซื้อที่ดินของโจทก์ร่วมและการเล่นการพนันเป็นเพียงเหตุการณ์ที่จำเลยกับพวกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงเอาเงินของโจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมเข้าสู่หลุมพรางที่จำเลยกับพวกดักไว้ทำให้จำเลยกับพวกได้เงินจากโจทก์ร่วมไป 1,000,000 บาท จะถือว่าโจทก์ร่วมสมัครใจเข้าร่วมเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือร่วมกระทำความผิดด้วยไม่ได้
             โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจ่ายเงินให้จำเลยไป 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท เป็นความผิดฐานฉ้อโกงสองกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1335/2552
           จำเลยทั้งสามกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่เป็นแผนการหรือกลอุบายอย่างหนึ่งที่จำเลยทั้งสามสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อจะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วม ทั้งโจทก์ร่วมมิได้มีเจตนาที่จะไปร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสามมาแต่ต้น
           การที่โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเพื่อเข้าหุ้นเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางกับดักเอาไว้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสามโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343 / 2549
           จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายได้ทำพิธีปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ได้เลขท้าย 2 ตัว ของรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อได้เลข 96 มาแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายตกลงกันว่าจะไปซื้อหวยใต้ดิน ผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อหวยใต้ดิน หลังจากมอบเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกก็หลบหนีไป
             พฤติการณ์ของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา ผู้เสียหายคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ผู้จัดการทรัพย์สินยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 987/2554
ป.อ. มาตรา 86, 352, 353, 354
            จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
            แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบด้วยมาตรา 86

คำพิพากษาฎีกาที่ 532/2553
ป.อ. มาตรา 86, 353, 354
             จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม
             แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมาก ก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาฎีกาที่ 604/2537
ป.อ. มาตรา 354
             ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ผู้ตาย ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ได้จดทะเบียนขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ ว. โดยไม่ได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปด้วยวิธีการอันไม่สุจริต หรือมีเจตนาที่จะเบียดบังเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกไว้โดยทุจริตอย่างไร ทั้งก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่เคยทวงถามจำเลยให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่ การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทำการขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปนั้น จึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการ และแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719, 1750 คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลดังฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2534
             คำบรรยายฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยได้กระทำผิด ยักยอกในฐานผู้มีอาชีพหรือประกอบธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานธนาคารและเป็นตัวแทนของโจทก์ ในการจัดเก็บหนี้สินจากลูกหนี้ของโจทก์ เพื่อนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ และจำเลยยังเป็นผู้ดูแลเงินฝากของโจทก์ด้วย แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนที่ดี กลับเบียดบังเงินในบัญชีของโจทก์หรือเงินที่เก็บมาจากลูกหนี้ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
             ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยที่เป็นตัวแทนของโจทก์ตามฟ้อง เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับการที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคาร ซึ่งเป็นอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน หรือเป็นการที่โจทก์มอบให้จำเลยกระทำเป็นตัวแทนของโจทก์เป็นการส่วนตัว ฟ้องของโจทก์จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามมาตรา 354 แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้างมาตรา 354 มาด้วยก็ตาม ก็เป็นการระบุเกินมาจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 354 ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.อ. มาตรา 193 ทวิ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3595/2532
ป.อ. มาตรา 83, 86, 352, 354
             ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ ข้อที่ว่า "ผู้ใดครอบครองทรัพย์" นั้น มิใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวผู้กระทำ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำอันหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคารยักยอกทรัพย์ของธนาคาร จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83
             แม้จำเลยจะร่วมกระทำผิดกับผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนก็เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เฉพาะวรรคสอง)

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4958/2556
ป.อ. มาตรา 157
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (13), 92
                อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนและสร้างบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์การก่อสร้างที่ใช้เป็นที่พักสายตรวจและให้ประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ได้ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ อาคารดังกล่าวได้ขอบ้านเลขที่โดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ได้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว เมื่อประชาชนสามารถเข้ามาติดต่อใช้อาคารในการติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้
              สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ การใช้ห้องพักที่เกิดเหตุแม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ แต่เป็นห้องพักอันเป็นสถานที่ราชการที่เจ้าพนักงานตำรวจอื่นก็เข้าพักอาศัยได้เช่นกัน ดังนี้จากลักษณะการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11190/2555
ป.อ. มาตรา 335 (8)
             การกระทำอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง หาได้หมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ราชการนั้นด้วย การที่จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดไว้ระหว่างป้อมยามที่ 1 และป้อมยามที่ 2 บริเวณทางเข้าวนอุทยานที่เกิดเหตุ ซึ่งมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 335 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9559/2552
ป.อ. มาตรา 334, 335 (8), 335 วรรคแรก, 80
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
               การที่จำเลยเอายาและเครื่องเวชภัณฑ์ใส่ไว้ในถุงพลาสติก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเอาจากห้องคลังยาย่อยโดยตรง หรือในช่วงที่จำเลยเอาไปวางไว้บนชั้นด้านหลังเคาน์เตอร์เภสัชกร ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้เคลื่อนย้ายทรัพย์จากที่ตั้งตามปกติและเข้าถือเอาทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งจำเลยยังได้เดินถือถุงดังกล่าวออกไปด้วย แม้จะยังไม่พ้นจากห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน เพราะนางสาว น. พบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงเอาทรัพย์ไปไม่ได้ก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้และไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
               นอกจากนี้จำเลยเป็นลูกจ้างประจำและทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุห้องจ่ายยาผู้ป่วยในก็เป็นสถานที่ทำงานของจำเลยและเหตุเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจึงลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ และศาลมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

บุกรุกอสังหาริมทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5132/2555
ป.อ. มาตรา 358, 362
              แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายจะระบุว่า นาย ส. จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นาย ส. ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความระบุว่า ตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง แสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท
             เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของนาย ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในบ้านพิพาทก็มีเจตนาเพื่อปรับปรุงห้องครัวและห้องน้ำภายในบ้านพิพาทจึงมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2768/2551
ป.อ. มาตรา 362
           ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องจัดการหาผลประโยชน์จากการเอาสถานที่เกิดเหตุของโจทก์ร่วมออกให้เช่า โดยจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการเช่าที่ดินที่ถูกบุกรุกมาตั้งแต่แรก
           เมื่อที่ดินบริเวณที่ถูกบุกรุกเป็นของโจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมไม่ได้อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่จำเลยนำที่ดินของโจทก์ร่วมไปให้ผู้อื่นเช่าโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุก โจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ย่อมมีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3877/2551
ป.อ. มาตรา 358, 362, 365
               แม้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยืนยันว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปี 2541 จึงมีคดีพิพาทกับจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้โจทก์ร่วมก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 149/2542 ของศาลชั้นต้น
               แม้ว่าคดีดังกล่าวมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบอันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ว่าโจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยก็อ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่ปี 2513 จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองก่อนที่โจทก์ร่วมจะนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 325 ไปขอออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ในโครงการเดินสำรวจตามประกาศกระทรวง
                แม้ว่าจำเลยไม่ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก.) มาแสดงดังที่โจทก์ฎีกา แต่จำเลยก็อ้างว่าจำเลยมีพยานหลักฐานอื่นคือ หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยตามแบบแสดงรายการที่ดิน ดังนั้น ในขณะที่เกิดเหตุคดีนี้จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดมีสิทธิครอบครองนั้นเป็นเรื่องในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2720/2551
ป.อ. มาตรา 362
                 โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า เมื่อซื้อที่ดินพิพาทจากนางเสงี่ยมแล้วโจทก์ร่วมไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องนางเสงี่ยมเจ้าของที่ดินเดิมปลูกเผือกอยู่ในที่ดินพิพาททั้งแปลง โจทก์ร่วมหาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากนางเสงี่ยมตามที่โจทก์อ้างไม่ และโจทก์ร่วมก็ยังเบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะเสร็จการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่จำเลยที่ 2 ปลูกในที่ดินพิพาท
               ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทมาแล้ว จึงเป็นการเข้าไปในที่ดินโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิม และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของคนต่อมา แม้โจทก์ร่วมจะอ้างว่า จำเลยที่ 2 ตกลงว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทเมื่อเก็บเกี่ยวเผือกเสร็จแล้วแต่ไม่ออกไป ทั้งยังจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินเพื่อทำนาข้าวอีก และโจทก์ร่วมกับภริยาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทได้ห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานบุกรุก เพราะจำเลยที่ 2 กระทำต่อเนื่องจากการที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้
                 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำผิดข้อตกลงที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม และเมื่อจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมแล้วไม่ยอมออกไปเมื่อโจทก์ร่วมแจ้งให้ออก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องการกระทำละเมิดในทางแพ่ง หาเป็นความผิดอาญาตามที่โจทก์ฟ้องไม่

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

จัดหางานและฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9828/2554
ป.อ. ฉ้อโกงประชาชน (มาตรา 341, 343)
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มาตรา 91 ตรี)
              จำเลยเป็นผู้ชักชวนพวกผู้เสียหายให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแจ้งถึงรายละเอียดของลักษณะงาน วันเวลาทำงานและรายได้จากการทำงาน โดยยืนยันว่านาย อ. จะเป็นผู้ติดต่อกับนายจ้างชาวญี่ปุ่น ทั้งรับรองว่าหากไม่ได้เดินทางไปทำงานแล้ว จำเลยก็ยินดีคืนเงินให้ทั้งหมด ซึ่งพวกผู้เสียหายก็ได้ชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าบริการให้แก่จำเลย
               เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานในต่างประเทศ จึงส่อแสดงให้เห็นเจตนาทุจริตของจำเลยในการหลอกลวงเอาเงินจากพวกผู้เสียหาย ทั้งจำเลยรู้อยู่แล้วว่านาย อ. กับพวกก็ไม่สามารถจัดส่งพวกผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและนาย อ. กับพวก มิใช่มีลักษณะที่จำเลยกระทำการเป็นนายหน้าหาคนหางาน แต่เป็นลักษณะกระทำการร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำในกระบวนการจัดหางานและฉ้อโกง
              พฤติการณ์แห่งคดีและพฤติกรรมการกระทำของจำเลย ทั้งสภาพความผิดที่เป็นการสร้างความเดือดร้อนและเป็นภัยต่อคนหางานโดยทั่วไป ลักษณะความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้ชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 17 คน ไปบางส่วน และในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยก็ได้ชดใช้เงินช่วยบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอีกจำนวน 17 คน ไปแล้วบางส่วน ทั้งจำเลยยังได้วางเงินอีกบางส่วนต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ผู้เสียหายที่เหลืออีก 3 คน มารับไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด จึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้ลงโทษสถานเบาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275-3276/2554
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มาตรา 30 วรรคหนึ่ง , 82)
               การกระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 คดีนี้แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนในข้อ (ก.) บรรยายว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย แต่ฟ้องของโจทก์ข้อ (ข.) ที่ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนทั่วไป ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานยังต่างประเทศและสามารถหางานในประเทศมาเลเซียให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองไปทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้างได้ โดยจะได้รับค่าจ้างวันละ 40 ถึง 45 ดอลลาร์มาเลเซีย มีสวัสดิการดี ถ้าประสงค์จะไปทำ งานให้สมัครงานและเสียค่าใช้จ่ายคนละ 40,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสี่ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถจัดหางานในประเทศมาเลเซียให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองโดยชอบและถูกต้องได้นั้น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสอง คงมีเจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 82 แม้จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานนี้ได้
                การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปกับโจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคนหางานว่า จำเลยทั้งสี่สามารถหางานในต่างประเทศให้ได้ จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายดังกล่าวหลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสี่ไป โดยที่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น ลักษณะของความผิดเป็นการหลอกลวงคนหมู่มาก โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ทำให้ได้รับความเดือนร้อนและทุกข์ยาก ซึ่งเป็นการกระทำซ้ำเติมต่อประชาชนผู้ซึ่งยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดจึงเป็นภัยต่อสังคมและเป็นเรื่องร้ายแรง การที่จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดที่กระทำก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็ลงโทษเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ด้วยการลงโทษในระวางโทษขั้นตํ่าและลดโทษในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดให้แล้ว ทั้งพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ปรากฏเหตุอื่นถึงขนาดที่จะยกมาเป็นเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจต้องกันให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่โดยไม่รอการลงโทษไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10529/2555
ป.อ. ตัวการ กรรมเดียว หลายกรรม ปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน (มาตรา 83, 90, 91, 340 วรรคสอง, 340 ตรี)
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานหลักฐาน (มาตรา 227)
พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
               ระหว่างเกิดเหตุภายในบ้านเกิดเหตุเปิดไฟนีออนขนาด 340 วัตต์ ไว้ 2 ดวง ร้อยตำรวจเอก ธ. รองสารวัตรวิทยาการจังหวัดสมุทรสาครพยานโจทก์ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ เบิกความว่า พยานได้ทดลองเปิดไฟฟ้าภายในบ้านเกิดเหตุปรากฏว่าแสงสว่างสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะห่างประมาณ 1 ถึง 2 เมตร
               คนร้ายใช้เวลาปล้นทรัพย์เป็นเวลานานถึง 15 นาที ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าจำหน้าจำเลยที่ 1 ได้ขณะที่จำเลยที่ 1 เข้ามากอดปล้ำจับผู้เสียหายเพื่อจะใส่กุญแจมือเป็นเหตุให้หมวกไหมพรมที่คลุมหน้าจำเลยที่ 1 หลุดออกหล่นลงกับพื้น และจำเลยที่ 1 ก็มิได้หยิบหมวกไหมพรมขึ้นมาสวมใส่อีก หลังจากใส่กุญแจมือผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1 ร่วมค้นหาทรัพย์สินกับคนร้ายที่อ้างว่าเป็นจำเลยที่ 2 ในบ้านเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปิดบังใบหน้า ทั้งมิได้ห้ามผู้เสียหายมองหน้าตนแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าผู้เสียหายมีเวลาและโอกาสเห็นและจดจำหน้ารูปร่างของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ผิดพลาด ผู้เสียหายรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนเนื่องจากมีบ้านอยู่ใกล้กัน จำเลยที่ 1 เคยมางานบุญที่บ้านของผู้เสียหาย และผู้เสียหายเคยไปซื้อที่ดินบิดาของจำเลยที่ 1
                หลังเกิดเหตุในคืนนั้นเองผู้เสียหายบอกแก่ร้อยตำรวจเอก ก. ผู้จับจำเลยทั้งสองและพันตำรวจโท จ. พนักงานสอบสวนว่า จำหน้าจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากหมวกไหมพรมของจำเลยที่ 1 หลุดออกมา ในคืนเกิดเหตุเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 มาได้ ผู้เสียหายชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย ข้อเท็จจริงดังกล่าวร้อยตำรวจเอก ก. และพันตำรวจโท จ. พยานโจทก์ได้มาเบิกความสนับสนุนผู้เสียหาย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะใส่ร้ายปรักปรำจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่นั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นตัวการร่วมปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนจริง
                โจทก์ไม่มีอาวุธปืนที่ฟ้องเป็นของกลางมาแสดงต่อศาลว่าเป็นอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 มีเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม
                ผู้เสียหายมิได้เห็นหน้าคนร้ายที่อ้างว่า คือจำเลยที่ 2 คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวมีน้ำหนักน้อย เนื่องจากเสียงพูดของบุคคลแต่ละคนอาจเหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้หรืออาจเลียนแบบให้เหมือนกันได้ โอกาสที่ผู้เสียหายจำเสียงจำเลยที่ 2 ผิดพลาดจึงเป็นไปได้สูงยิ่ง ทั้งลักษณะการแต่งกายที่คล้ายกันมิได้เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายเพราะอาจมีบุคคลอื่นแต่งกายเหมือนกับจำเลยที่ 2 ก็เป็นได้
               จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน จำคุก 18 ปี ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่มีใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7815/2555
ป.อ. ตัวการ สนับสนุน ปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือ ให้พ้นจากการจับกุม (มาตรา 83, 86, 340, 340 ตรี)
             จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ ซ. พวกของจำเลยทั้งสองไปด้วยกัน 8 คน ด้วยรถจักรยานยนต์ 4 คัน และพบผู้เสียหายที่ศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยที่ 1 อยู่กับจำเลยที่ 2 กับพวก ตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 2 กับพวกจอดรถจักรยานยนต์ห่างจากศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทางประมาณ 6 เมตร แล้วพวกของจำเลยที่ 2 คนหนึ่งเข้าไปพูดกับคนรักของผู้เสียหายให้เลิกคบกัน จนเมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ออกจากศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยที่ 1 ก็ร่วมกับจำเลยที่ 2 กับพวกติดตามไป แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมคบคิดวางแผนกับจำเลยที่ 2 กับพวกมาแต่ต้นเพื่อปล้นทรัพย์ผู้เสียหายหรือรู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 กับพวกมาก่อนกระทำความผิด
             ระหว่างที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันทำร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 1 ก็อยู่ที่รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ห่างออกไปถึง 4 ถึง 5 เมตร ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์ที่ปล้นไปได้จากผู้เสียหายด้วย จึงยังไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 กับพวกในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถจักรยานยนต์ตามจำเลยที่ 2 กับพวกที่ขับรถจักรยานยนต์ตามผู้เสียหายมาที่เกิดเหตุ ขณะจำเลยที่ 2 กับพวกกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ก็ยังคงรอที่รถจักรยานยนต์ในลักษณะที่พร้อมจะพาจำเลยที่ 2 กับพวกหลบหนีไปได้ทันที และหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็รับพวกของตนขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปพร้อมกันนั้นเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกในขณะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 กับพวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นจากการจับกุม

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พนักงานธนาคารเบิกถอนเงินจากบัญชีลูกค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554
                โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด จึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659 วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ
               เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์ แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์มิได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ยจึงมิใช่เรื่องผิดวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่ตนฝาก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7819/2552
ป.อ. มาตรา 334
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9)
                การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่า เงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานธนาคารและธนาคาร เบิกถอนไปเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคนมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
               ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือแก่ประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือต่อการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน หรือเป็นการผูกขาดหรือจำกัดตัดตอนทางเศรษฐกิจ เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 12 (9) จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  782/2547
ป.อ. มาตรา 264, 265, 268, 341, 91
              โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2535 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 12มิถุนายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยเป็นพนักงานของธนาคาร มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานในการรับฝากและถอนเงินของลูกค้าธนาคาร โดยจำเลยมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของธนาคาร กรณีถอนเงินครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท และกรณีฝากครั้งละ1,000,000 บาท จำเลยได้ปลอมใบถอนเงินเพื่อถอนเงินจากธนาคารผู้เสียหาย และใช้ใบถอนเงินดังกล่าวถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของ บ. และ ส. ลูกค้าของผู้เสียหายรวม 20 ครั้ง อันเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว
             ต่อมาระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จำเลยจึงได้ทำการปลอมสมุดคู่ฝากที่ธนาคารผู้เสียหายออกให้แก่ บ. และ ส. โดยจำเลยพิมพ์ข้อความในช่องวัน เดือน ปีกับเติมและตัดทอนข้อความในช่องฝาก ช่องถอน ช่องคงเหลือและลงชื่อจำเลย แล้วมอบให้ บ. และ ส. เพื่อให้บุคคลทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นสมุดเงินฝากของธนาคารผู้เสียหายที่แท้จริงและเงินฝากของบุคคลทั้งสองมีอยู่ตามจำนวนที่จำเลยทำขึ้นอันเป็นการกระทำเพื่อปกปิดความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอมของจำเลย ความผิดฐานปลอมและใช้สมุดคู่ฝาก จึงเป็นการกระทำต่อ บ. และ ส. ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนละรายกับข้อหาความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอม จึงเป็นความผิดต่างกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4345/2545
ป.อ. มาตรา 1 (1) , 59 , 335 (11) , 341
ป.วิ.อ. มาตรา 227
               จำเลยเป็นลูกจ้างธนาคารโจทก์ร่วมในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วน มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานด้านกู้เงินระยะสั้นโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้อาศัยโอกาสในหน้าที่ของจำเลยทำเอกสารใบถอนเงินของโจทก์ร่วมระบุโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าอันเป็นเท็จ และโอนเงินของโจทก์ร่วมเข้าบัญชีของ ส. พวกของจำเลย หลังจากนั้นก็ร่วมกับพวกเบิกถอนเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนกับพวก ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมยอมให้มีการโอนเงินไปตามเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยทำขึ้นนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับข้อความในเอกสารว่าเป็นจริงหรือเท็จ แต่เป็นการโอนเงินไปเพราะเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยได้รับมอบอำนาจให้กระทำมีรายการครบถ้วนและมีลายมือชื่อกับรหัสประจำตัวของจำเลยซึ่งหากจำเลยไม่กระทำด้วยวิธีการดังกล่าว ย่อมไม่อาจเอาเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมได้
               ดังนั้น การที่อนุมัติให้โอนเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความในเอกสารอันเป็นเท็จและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วม แต่เป็นกรณีที่จำเลยทำเอกสารใบถอนเงินโดยมีข้อความอันเป็นเท็จแล้วเสนอไปตามขั้นตอนเพื่อให้มีการอนุมัติโอนเงินตามเอกสารนั้น อันเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมโดยทุจริตได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ทวงหนี้ ยึดทรัพย์โดยพลการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11225/2555
ป.อ. ตัวการ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในเคหสถาน โดยร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ (มาตรา 83, 335 (1) (7) (8) วรรคสอง, 336 ทวิ)
               จำเลยทั้งสามเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้เงินกู้ยืมจากผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ชำระ จำเลยทั้งสามจะบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อความว่า หากผู้เสียหายผิดนัด ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ยึดทรัพย์สินของผู้เสียหาย ผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสามไปพูดคุยกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน และยื่นข้อเสนอขอผ่อนชำระเงินส่วนที่ค้าง แต่จำเลยทั้งสามไม่ยินยอมและกลับมาที่บ้านผู้เสียหาย แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปเอาทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะบรรทุกทรัพย์ดังกล่าวไป เพื่อให้ผู้เสียหายไปติดต่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ค้างชำระจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม หลังจากที่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนได้เรียกจำเลยทั้งสามมาพบ จำเลยทั้งสามมาพบและนำทรัพย์สินของกลางมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย
               การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นการบังคับให้ผู้เสียหายชำระหนี้โดยพลการซึ่งไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ สำหรับรถยนต์กระบะของกลางที่เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้น เห็นว่า พฤติการณ์แห่งความผิดของจำเลยทั้งสามไม่ร้ายแรงมากนัก โทษจำคุกและโทษปรับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดแก่จำเลยทั้งสามนั้นเชื่อว่าจะทำให้จำเลยทั้งสามหลาบจำไม่กระทำความผิดอีกแล้ว จึงเห็นสมควรไม่กำหนดโทษริบทรัพย์สินอีก

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2551
ป.อ. มาตรา 91
พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง
              พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไปผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”
               ดังนี้ การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว
              ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง คือ 19 กรรม และ 14 กรรมตามลำดับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549
ป.อ. มาตรา 91
               จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 14 คน และประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนว่า จำเลยทั้งสองรับกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปโดยไม่จำกัดบุคคลและวงเงิน ด้วยการรับเข้าร่วมลงทุนในลักษณะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 15 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่รับกู้ยืมซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้
                ความจริงจำเลยทั้งสองไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ และรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีเจตนาทุจริตที่จะไม่คืนเงินคืนแก่ผู้เสียหายผู้ให้กู้ยืมเงินมาแต่แรก โดยการนำเงินที่ได้จากการหลอกหลวงผู้ให้กู้ยืมออกหมุนเวียนจ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมรายนั้นเอง หรือรายอื่นบางรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าการให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินในลักษณะที่เป็นการร่วมลงทุนนั้นได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงและพากันนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม เมื่อได้เงินมากพอ จำเลยทั้งสองก็จะร่วมกันเอาเงินดังกล่าวหลบหนีไปและโดยการร่วมกันหลอกลวงของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คน ต่างหลงเชื่อและให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินไปซึ่งในที่สุดผู้เสียหายทั้งสิบสี่คนก็ไม่ได้รับเงินต้นคืน ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คนเสียหาย
              การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็น ที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้ เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย

ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8980/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 120, 121
              โจทก์ร่วมเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาท โดยทำสัญญาเช่าซื้อกับนาย ว. ในราคา 258,000 บาท ในระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ มีผู้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วมและยังไม่นำมาคืน ต่อมาโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกรถ
              จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถจึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์และขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม การมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
              เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ
              การที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย
              แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกหรือหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
              จำเลยยืมรถยนต์พิพาทของโจทก์ร่วมไป ต่อมา จำเลยเป็นผู้พาโจทก์ร่วมและพยานทั้งสามไปติดตามหารถยนต์พิพาท จำเลยบอกว่านำรถยนต์พิพาทไปแลกกับยาเสพติดให้โทษแล้ว หลังจากนั้นจำเลยหลบหนีไป พยานทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียในคดีหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อได้ว่าพยานทั้งสามเบิกความตามที่ได้รู้เห็นมา ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ซึ่งจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยถูกควบคุมตัวซึ่งบันทึกการจับกุมระบุว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับ มิใช่เป็นการมอบตัว ที่จำเลยอ้างว่าเข้ามอบตัวเองจึงไม่อาจรับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยยืมรถยนต์พิพาทของโจทก์ร่วมไปแล้วเบียดบังเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7960/2551
ป.อ. มาตรา 341
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)
              ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัท ต. จำกัด ต่อมา ผู้เสียหายขายดาวน์รถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อแทนในราคา 50,000 บาท จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหายโดยใช้ชื่อในการทำสัญญาว่า นายดลหลี จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวและรับรถยนต์ไปแล้ว
             การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าโดยใช้ชื่อและที่อยู่อันเป็นเท็จในการทำสัญญาซื้อรถยนต์ และขณะทำสัญญาผู้เสียหายขอดูบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากจำเลย แต่จำเลยไม่แสดงให้ผู้เสียหายดูจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ อีกทั้งหลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยก็ไม่มาทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อตามที่ตกลงกันไว้ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกในการหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อประสงค์จะไม่ให้ผู้เสียหายติดตามทวงรถยนต์คืนได้ โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งรถยนต์เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย
               แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
              รถยนต์ที่จำเลยฉ้อโกงไปจากผู้เสียหาย ไม่ใช่รถยนต์ของผู้เสียหาย แต่เป็นรถยนต์ของบริษัท ต. จำกัด ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้เช่าซื้อเท่านั้น ประกอบกับผู้เสียหายชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทดังกล่าวประมาณ 120,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนั้น เพื่อให้การคืนรถยนต์หรือใช้ราคาเป็นไปโดยถูกต้อง จึงให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแก่เจ้าของ

ผู้เช่าซื้อไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  386/2551
ป.อ. มาตรา 96
ป.วิ.อ. มาตรา 39(6)

               บ. เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จาก ว. ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 36 งวด ระหว่างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยทั้งสองได้รับมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน บ. ติดตามรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคืนมา ปรากฏว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวหายไปรวม 10 รายการ
              แม้ บ.ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว.ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ บ.ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว.ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. บ.ย่อมได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับ ว.เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว
               คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อ บ.รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

หมายเหตุ
           ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ"
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ มีปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีความผิดอันยอมความได้ และเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยแต่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อมีผู้เสียหายคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วมิได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน แต่ต่อมาภายหลังผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเพิ่งรู้และได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ตนเองได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จะถือว่าคดีเฉพาะผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนเท่านั้นที่ขาดอายุความหรือส่งผลทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย โดยมีข้อน่าพิจารณาดังต่อไปนี้
            1. คำวินิจฉัยคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การร้องทุกข์ดังกล่าวอยู่ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ ทั้งๆ ที่คดีนี้ บ. ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจาก ว. ผู้ให้เช่าซื้อให้ร้องทุกข์ คำวินิจฉัยคดีนี้จึงแสดงว่าศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ว่า ว. ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนหนึ่งจะรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดภายใน 3 เดือน หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า บ. ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก่อนแล้ว บ. มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีโจทก์ก็ขาดอายุความอยู่ดี
            2. คำวินิจฉัยคดีนี้ยังคงยืนยันตามหลักการเดิมที่ถือว่า ในคดีความผิดฐานยักยอก ทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองทรัพย์ต่างก็เป็นผู้เสียหายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2530, 5097/2531, 33/2532 และ 4/2533
            3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้เป็นการวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2537 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทได้ยักยอกทรัพย์ของบริษัท โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท แม้โจทก์จะฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก็เป็นอันขาดอายุความ เพราะก่อนหน้านี้ ล. ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เสียหายเช่นกันได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วแต่ ล. ไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ดังกล่าว
            จากคำวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2537 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาวางหลักไว้ว่า กรณีความผิดอันยอมความได้และเป็นการกระทำกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยแต่มีผู้เสียหายหลายคน หากผู้เสียหายคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วมิได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน แม้ต่อมาภายหลังผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเพิ่งรู้และได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ตนเองได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ถือว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ทั้งคดี กล่าวคือ ไม่ใช่เฉพาะคดีในส่วนของผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเท่านั้นที่ขาดอายุความ แต่ยังส่งผลทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย

ใช้ชื่อผู้อื่นเช่าซื้อทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2556
ป.อ. มาตรา 352          
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับมอบโทรทัศน์สี 1 เครื่อง ราคา 30,900 บาท ของบริษัท ด. จำกัด ผู้เสียหายไว้ในครอบครองของจำเลย โดยมี นาง ส. และนาง น. เป็นผู้ค้ำประกัน ภายหลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเพียง 2 งวด แล้วผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด ติดต่อกัน นาย ฤ. พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายจึงไปที่บ้านของนาง ส. พบนาง ส. และจำเลย ซึ่งเป็นลูกจ้างอยู่บ้านเดียวกับ นาง ส. พยานสอบถามถึงโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไปว่ายังอยู่หรือไม่ นาง ส. ตอบว่าจำเลยได้นำโทรทัศน์สีไปขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ขณะนั้นจำเลยอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย พยานจึงจัดทำบันทึกการตรวจสอบให้ นาง ส. ลงลายมือชื่อ เนื่องจากจำเลยทำงานไม่ว่างลงลายมือชื่อ
               จำเลยนำสืบต่อสู้โดยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า นาง ส. เป็นนายจ้างและเป็นผู้เช่าซื้อและนำสินค้าไปใช้ โดยให้จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อแทน นาง ส. เป็นผู้รับมอบโทรทัศน์สีและเป็นผู้ครอบครอง ทั้งเป็นผู้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด จำเลยไม่ได้เช่าซื้อและไม่ได้เป็นผู้ผ่อนชำระ เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อผ่านไป 3 เดือน นาง ส. นำโทรทัศน์สีไปจำหน่าย จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อเพราะนาง ส. ขอร้อง โดยนาง ส. ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน
               พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนาย ฤ. แสดงให้เห็นว่านาย ฤ. สนใจติดต่อกับนาง ส.โดยตรง โดยไม่สนใจติดต่อกับจำเลยซึ่งลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อเลย จึงเจือสมข้อเท็จจริงตาม ทางนำสืบของจำเลยที่ว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อแทนนาง ส. เชื่อได้ว่านาง ส. เป็นผู้เช่าซื้อและเป็นผู้รับมอบโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไปไว้ที่บ้านของนาง ส. ดังเห็นได้จากเมื่อมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ นาย ฤ. ตรงไปที่บ้านของนาง ส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสอบถามถึงโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไป ทั้งให้นาง ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจสอบ โดยไม่ได้ให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ด้วย ไม่สมกับที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อทั้งที่ขณะนั้นจำเลยก็อยู่ในบ้านของนาง ส. เช่นนี้ แม้จำเลยได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อก็ตาม พฤติการณ์ก็เชื่อได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อแทนนาง ส. ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยและจำเลยไม่ได้เป็นผู้ครอบครองโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9532 / 2554
ป.อ. มาตรา  352
              โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อพร้อมกระบะดั๊ม จำนวน 2 คัน จากบริษัท ร. จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ ในราคาเช่าซื้อคันละ 1,549,000 บาท เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีพยานเบิกความว่าโจทก์เป็นผู้ออกเงินมัดจำและค่าประกันภัยรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันรวมเป็นเงิน 260,000 บาท สอดคล้องต้องกันตรงกับข้อความในสัญญาเช่าซื้อจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่อ้างว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเป็นของจำเลยแต่ให้โจทก์ดำเนินการแทนและอ้างว่าได้มอบเงินสดเป็นค่ามัดจำและค่าประกันภัยจำนวน 260,000 บาท ให้โจทก์ต่อหน้านาย อ. นั้น จำเลยก็เพียงเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานที่มาของเงินหรือมีหลักฐานการรับจ่ายเงินมาแสดงต่อศาล และก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเป็นของตนเองจริง โดยเป็นผู้ออกเงินมัดจำกับค่าประกันภัยรถแล้ว เหตุใดจำเลยจึงไม่เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อด้วยตนเอง หรือมิฉะนั้นก็ให้น้องชายดำเนินการแทน แต่กลับให้โจทก์ออกหน้าเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ พยานหลักฐานจำเลยเป็นพิรุธน่าสงสัย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์
               โจทก์เช่าซื้อรถแล้วนำมาให้จำเลยครอบครองใช้ประโยชน์โดยนำไปร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. รับจ้างขนดิน โดยตกลงให้จำเลยนำเงินค่าจ้างที่ได้มาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือ วิธีนี้นอกจากจะทำให้โจทก์ให้ประโยชน์ตอบแทนแก่จำเลย โดยจำเลยจะได้ค่าจ้างจากการนำรถมารับจ้างขนดินร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มาผ่อนค่าเช่าซื้อและยังมีเงินกำไรเหลือแล้วยังอาจจะเป็นประกันด้วยว่า จำเลยจะได้ช่วยเหลือให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้งานจากบริษัท อ. จำกัด ต่อไป เนื่องจากการทำให้จำเลยได้ประโยชน์ด้วย จึงนับว่าสมเหตุสมผล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันจากบริษัท ร. โดยเป็นผู้ชำระเงินค่ามัดจำและค่าประกันภัย
             ส่วนเรื่องที่นาย อ. เบิกความว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะผ่อนค่าเช่าซื้อและผ่อนค่ามัดจำและค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ กับพฤติการณ์ที่จำเลยให้เงินแก่โจทก์ 50,000 บาท เป็นค่าดำเนินการในวันทำสัญญานั้น ก็เห็นว่าเป็นการที่จำเลยจะทำเพื่อจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันมาให้จำเลยให้หาประโยชน์ แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยรับมอบการครอบครองรถไปจากโจทก์แล้ว แม้จะฟังตามข้ออ้างของจำเลยว่านาย ส. หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. รับเงินค่าจ้างมาแล้วไม่จ่ายให้โจทก์และจำเลย ทำให้จำเลยต้องนำรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันไปทำงานที่อื่นและไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่ผู้ให้เช่าซื้อ จนเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญากับโจทก์และต่อมาได้ฟ้องให้โจทก์คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อกับให้ใช้ค่าเสียหาย และแม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อจะยังเป็นของบริษัท ร. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่โจทก์ผู้เช่าซื้อมีสิทธิตามสัญญาที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อ
              แม้โจทก์จะส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถแทนโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีผลถึงหน้าที่และความรับผิดที่โจทก์มีต่อผู้ให้เช่าซื้อ และโจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อในกรณีที่มีเหตุต้องคืน ทั้งยังต้องรับผิดชดใช้ราคารถกับค่าเสียหายกรณีที่ไม่สามารถติดตามรถคืนมาได้ การที่จำเลยเบียดบังนำรถยนต์บรรทุกที่โจทก์เช่าซื้อไปไว้ที่อื่นเพื่อหลบเลี่ยงมิให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถคืนได้ก็ดีหรือนำไปขายต่อก็ดี ทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อในทางแพ่ง แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่จะเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก มิใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2716/2554
ป.อ. มาตรา 352
            การที่นาง อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่นาง อ. ทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้ โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างนาง อ. กับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากนาง อ. แล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเองด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. เรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกัน ต่อมา จำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้นาย ช. โดยทำความตกลงกับนาย ช. ให้นาย ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป ภายหลังจากนั้นจำเลยติดต่อกับนาย ช. ไม่ได้ ทั้งจำเลยและนาย ช. ต่างก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6  ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาไปยังนาง อ. นาง อ.ไปสอบถามจำเลย จำเลยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง นาง อ.แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ ผู้ให้เช่าซื้อให้นาง อ.ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเอง แต่ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องคดีแพ่งบังคับให้นาง อ.รับผิดตามสัญญา
             พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจากนาย ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและนาย ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขาย แต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นาย ช. โดยมีข้อตกลงให้นาย ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
             การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นาย ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถือวิสาสะเอาทรัพย์จากอดีตภริยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๘๓/๒๕๕๖
ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) (๘) วรรคสอง, ๓๖๕ (๒) (๓) , ๓๖๔ , ๘๓
               จำเลยที่ ๑ เป็นสามีอยู่กินกับ ก. มาก่อนเกิดเหตุถึง ๗ เดือน เคยนอนพักอาศัยกับ ก. ที่ร้านที่เกิดเหตุ และมีเหตุทะเลาะกันบ่อย ทรัพย์ที่เอาไปล้วนแต่อยู่ในห้องนอนที่จำเลยที่ ๑ นอนกับ ก. ทั้งสิ้น ทั้งที่ชั้นล่างของร้านที่เกิดเหตุก็มีโทรทัศน์สีที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายอีกมากมายแต่ จำเลยที่ ๑ ก็มิได้เอาไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ หาได้มีเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหายไม่
               ชั้นสอบสวน จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อจำเลยที่ ๑ ไป ขอคืนดีกับ ก. แล้ว ก. ไม่ยอมคืนดีด้วย ยังได้ขับไล่ และเอากุญแจร้านให้จำเลยที่ ๑ เพื่อไปขนสิ่งของเครื่องใช้ออกไป จำเลยที่ ๑ จึงชักชวนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไปขนทรัพย์สินของตนเองและของผู้เสียหายรวมไปด้วยเพื่อเป็นข้อต่อรองให้ ก. ยอมคืนดีด้วย หลังเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ก็กลับมานอนที่บ้านของ ก. ไม่ได้หลบหนี เมื่อ ก. ไปทวงถามให้นำทรัพย์สินไปคืน จำเลยที่ ๑ ก็ให้บุตรไปคืนโดยดี ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๑ ถือวิสาสะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเนื่องจากต้องการเป็นข้อต่อรองกับ ก. ให้ยอมคืนดีด้วยเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น จึงมิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
               การกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และแม้จำเลยที่ ๑ จะไม่มีกุญแจร้านที่เกิดเหตุ แต่จำเลยที่ ๑ ก็พักอาศัยอยู่ที่ร้านเกิดเหตุกับ ก. มานาน โดยบางครั้งก็นอนที่ร้านกับ ก. และบางครั้งก็นอนที่บ้านบิดามารดาของ ก. ตามพฤติการณ์ถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้พักอาศัยอยู่ที่ร้านที่เกิดเหตุด้วยการเข้าไปในร้านของผู้เสียหายเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยจำเลยที่ ๑ ขนทรัพย์สินตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องเช่นเดียวกัน

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ลักทรัพย์ในสถานที่บูชาสาธารณะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9693/2544
ป.อ. มาตรา 335 (1) (9)
               สถานที่เกิดเหตุเป็นบริเวณหน้าที่ตั้งศพอดีตเจ้าอาวาสซึ่งอยู่หน้ากุฏิเจ้าอาวาส เป็นเพียงสถานที่ในวัด ที่จัดนำศพอดีตเจ้าอาวาสมาตั้งไว้เพื่อรอการพระราชทานเพลิงศพเท่านั้น ไม่ถือว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่บูชาสาธารณะ
               การที่จำเลยลักตู้รับเงินบริจาคซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าศพอดีตเจ้าอาวาสดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่บูชาสาธารณะ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2014/2536
ป.อ. มาตรา 1(4), 335(8), 335(9)
               จำเลยได้เข้าไปลักเอาเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเก็บไว้ภายในกุฏิของวัด คำว่า "กุฏิ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า "เรือนหรือตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่" ดังนั้น กุฏิพระจึงเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรเท่านั้น หาใช่สถานที่บูชาสาธารณะ แต่เป็น "เคหสถาน"ตามนัยมาตรา 1 (4) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การลักทรัพย์ในบริเวณกุฏิพระจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2226/2531
ป.อ. มาตรา 335 ทวิ, 340 ทวิ
             เงินในตู้บริจาคของศาลเจ้าและเงินของผู้ดูแลศาลเจ้า แม้จะเก็บรักษาไว้ในศาลเจ้า ก็มิใช่วัตถุในทางศาสนา การปล้นทรัพย์รายนี้จึงมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก เมื่อมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรกแล้ว จึงไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสองได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 ทวิ ไม่ว่าจะเป็นวรรคใด

            อุโบสถ คือ สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ ภาษาปากเรียกย่อว่า โบสถ์ เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ
            วิหาร คือ อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคล้ายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า คู่กับอุโบสถ แต่ไม่มีวิสุงคามเหมือนพระอุโบสถ คำว่า วิหาร แต่เดิมใช้ในความหมายว่า วัด เช่นเดียวกับคำว่า อาราม อาวาส เช่น เวฬุวัน วิหาร เชตวันมหาวิหาร
            ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารอเนกประสงค์ในงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งก่อสร้างในเขตสังฆาวาส ในบริเวณวัด เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา แต่เดิมนั้นใช้เป็นสถานที่เพื่อการเรียนของสงฆ์เท่านั้น 

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275-3276/2554
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528  มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 วรรคหนึ่ง

               การกระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528
               คดีนี้แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนในข้อ (ก.) บรรยายว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย แต่ฟ้องของโจทก์ข้อ (ข.) ที่ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนทั่วไป ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานยังต่างประเทศและสามารถหางานในประเทศมาเลเซียให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองไปทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้างได้ โดยจะได้รับค่าจ้างวันละ 40 ถึง 45 ดอลลาร์มาเลเซีย มีสวัสดิการดี ถ้าประสงค์จะไปทำงานให้สมัครงานและเสียค่าใช้จ่ายคนละ 40,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสี่
               ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถจัดหางานในประเทศมาเลเซียให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองโดยชอบและถูกต้องได้นั้น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสอง คงมีเจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองเท่านั้น
               การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 82 แม้จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานนี้ได้
              การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปกับโจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคนหางานว่าจำเลยทั้งสี่สามารถหางานในต่างประเทศให้ได้ จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายดังกล่าวหลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสี่ไป โดยที่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น ลักษณะของความผิดเป็นการหลอกลวงคนหมู่มาก โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ทำให้ได้รับความเดือนร้อนและทุกข์ยาก ซึ่งเป็นการกระทำซ้ำเติมต่อประชาชนผู้ซึ่งยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดจึงเป็นภัยต่อสังคมและเป็นเรื่องร้ายแรง
               การที่จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดที่กระทำ ก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษซึ่งศาลล่างทั้งสองก็ลงโทษเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ด้วยการลงโทษในระวางโทษขั้นตํ่าและลดโทษในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดให้แล้ว ทั้งพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ปรากฏเหตุอื่นถึงขนาดที่จะยกมาเป็นเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

บุกรุกตัดต้นไม้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6303/2539
ป.อ. มาตรา 59, 358, 362
              จำเลยทั้งสองเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาท เมื่อเกิดกรณีพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองไปแจ้งกำนันและคณะกรรมการหมู่บ้านมาไกล่เกลี่ย ผลการเจรจาตกลงกันได้ตามแผนที่ แต่ไม่มีข้อความอธิบายไว้เลยว่า แนวเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองอยู่ตรงไหน โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันอย่างไรไม่มีลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายและบุคคลที่เกี่ยวข้องในแผนที่ดังกล่าวเลย อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบปฏิเสธว่า ไม่เคยมีข้อตกลงกับโจทก์ โจทก์เป็นคนทำแผนที่ดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองไม่รู้เรื่อง แม้โจทก์จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านและบุคคลดีเด่นประจำหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละคนเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้านนั้นมาเบิกความก็ตาม แต่บุคคลดีเด่นประจำหมู่บ้านและกำนัน เป็นญาติกับโจทก์ ถือได้ว่าพยานทั้งสองปากดังกล่าวมีส่วนได้เสียกับโจทก์ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาจึงยังไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทมีแนวเขตตามแผนที่ 
              ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่าที่พิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แต่การรังวัดพิสูจน์ที่ดินตาม น.ส.3 เจ้าหน้าที่ที่ดินไม่ได้ออกหมายแจ้งให้โจทก์ทราบ โดยไม่ทราบสาเหตุเช่นนี้ จึงยังไม่ได้ความชัดว่า น.ส.3 ฉบับดังกล่าวจะออกมาโดยชอบหรือไม่ และตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบมาก็เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายยังโต้เถียงการครอบครองอยู่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก
              ส่วนต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทเป็นไม้ยืนต้น แม้โจทก์จะเป็นผู้ปลูกก็เป็นส่วนควบของที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่พิพาทกันอยู่ เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาท การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปตัดฟันต้นไผ่ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

(ข้อคิดเห็น - กรณีพิพาทเรื่องที่ดิน แม้ว่าทั้งสองฝ่ายเคยตกลงกันมาก่อน แต่ก็ไม่มีลายมือชื่อและแนวเขตที่ดินก็ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าอยู่แนวใด และยังมีการโต้เถียงว่า น.ส.3 ออกมาโดยชอบหรือไม่ จำเลยจึงเข้าไปโดยไม่มีเจตนาบุกรุก ส่วนต้นไผ่ที่ปลูกอยู่ในที่พิพาทเป็นไม้ยืนต้น ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทตามกฎหมาย เท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายโต้เถียงในกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ด้วย จำเลยจึงตัดต้นไผ่โดยไม่มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่น)   


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5830/2539
ป.อ. มาตรา 358
                ผู้เสียหายเบิกความว่า ได้ปลูกต้นยูคาลิปตัสลงในที่ดินมี น.ส.3 ก.ที่ซื้อจากจำเลย ภายในเขตที่ดินที่ทำรั้วลวดหนามแสดงแนวเขตไว้โดยจ้างคนมาปลูกและดูแลรักษาจนต้นยูคาลิปตัสสูงท่วมศีรษะ แต่จำเลยตัดและเผาต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้ประมาณ 500 ต้น เจ้าหน้าที่ที่ดินเบิกความว่า จำเลยกับผู้เสียหายทั้งสองเคยมายื่นเรื่องราวขอแบ่งขายที่ดิน แต่ที่ดินติดเงื่อนไขห้ามโอน จึงดำเนินการให้ไม่ได้ แต่เคยไปปักหลักเขตที่มีการแบ่งขายให้ผู้เสียหายทั้งสอง โดยมีผู้ใหญ่บ้านไปรับทราบด้วยตามที่คู่กรณีร้องขอ จำเลยเบิกความรับว่าผู้เสียหายทั้งสองได้ว่าจ้างคนงานหลายคนให้ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินบางส่วนของจำเลยจริง แต่เมื่อจำเลยต้องการเข้าไปทำนาในที่ดิน จำเลยจึงใช้จอบขุดต้นยูคาลิปตัสของผู้เสียหายออก
                แม้ผู้เสียหายทั้งสองกับจำเลยยังมีเรื่องโต้เถียงกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่ในชั้นนี้ยังไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าของต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะทำลายทรัพย์ของผู้อื่นได้ หากจะถือว่าการปลูกต้นยูคาลิปตัสลงในที่ดินเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของจำเลย ในกรณีที่ต่างโต้เถียงสิทธิครอบครองกันเช่นนี้ ต่างก็ต้องฟ้องเอาคืนการครอบครองเหตุว่าที่ดินยังมีอยู่ไม่สูญหายไปไหน ใครจะมีสิทธิในที่ดินจะต้องว่ากล่าวกันในทางศาล จำเลยเข้าตัด ฟัน ขุด และเผาต้นยูคาลิปตัสของผู้เสียหายเป็นการทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย

(ข้อคิดเห็น - กรณีทั้งสองฝ่ายเคยมายื่นขอแบ่งขายที่ดินกัน แต่ติดเงื่อนไขห้ามโอน จำเลยรับว่าต้นยูคาลิปตัสเป็นของผู้เสียหายที่เคยว่าจ้างให้คนงานมาปลูกในที่ดินบางส่วนของจำเลย และจำเลยก็ได้ขุดออกไปเมื่อได้เข้าไปทำนาในที่ดินนั้น การที่จำเลยไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองที่ดิน แต่มาตัดและเผาต้นยูคาลิปตัสประมาณ 500 ต้น ซึ่งสูงท่วมศีรษะในเขตที่ดินที่ล้อมลวดหนามเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ปลูกไว้ จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่น)    


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3548/2539
ป.พ.พ. มาตรา 420
ป.อ. มาตรา 358, 362
ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคแรก
ป.วิ.อ. มาตรา 40, 46
               พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบมา ยังโต้เถียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยที่ 1 จ้างรถแทรกเตอร์เข้าไปไถปรับที่ดินก็ด้วยเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิที่จะเข้าไปทำได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งคันนาและต้นหว้าที่อยู่ในที่ดินพิพาทซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมิใช่โจทก์เป็นผู้ปลูกไว้ด้วย เมื่อในคดีอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
               แม้คดีส่วนแพ่งคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ก็ตาม แต่เมื่อการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อกฎหมาย จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

(ข้อคิดเห็น - กรณีทั้งสองฝ่ายโต้เถียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยเข้าไปไถปรับที่ดิน จึงไม่มีเจตนาบุกรุก ส่วนโจทก์ก็ไม่ได้เป็นผู้ปลูกต้นไม้ที่เสียหายในที่ดินนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และไม่เป็นการละเมิดโจทก์) 

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

วางเพลิงเผาทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6737/2548
ป.วิ.อ. มาตรา 218 (1), 219
                จำเลยนำถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณ 1.5 ลิตร ไปวางไว้ที่แคร่ไม้หน้าบ้านผู้เสียหายที่ 2 แล้วบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายที่ 1 และทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย
                เมื่อจำเลยนำถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณ 1.5 ลิตร ไปวางบนแคร่หน้าบ้านผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยก็บุกรุกเข้าบ้านผู้เสียหายที่ 1 และทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย แล้วรีบหลบหนีออกจากบ้านผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยไม่ได้สนใจถุงน้ำมันเบนซินดังกล่าวอีก หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจยึดถุงน้ำมันเบนซินดังกล่าวกับไฟแช็กแก๊ส 1 อัน เป็นของกลาง
                แม้ขณะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจะกล่าวขึ้นว่า "โกหกกู จะฆ่าและเผาให้หมด" แต่จำเลยก็มิได้แสดงอาการจะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว ซึ่งจำเลยอาจกระทำการฆ่าได้โดยง่ายและทั้งจำเลยก็มิได้กลับไปเปิดถุงพลาสติกเอาน้ำมันเบนซินราดหน้าบ้านผู้เสียหายที่ 2 เพื่อจุดไฟเผาดังพูด พฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่า จำเลยหาได้มีเจตนาจะกระทำการฆ่าหรือเผาตามที่กล่าวขึ้นไม่ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  722/2545
ป.อ. มาตรา 218, 223
             ทรัพย์ที่เป็นอันตรายจากการวางเพลิงของจำเลยเป็นเพียงประตูบ้านซึ่งทำด้วยไม้มะค่าและต้นไม้ประดับ คิดเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายก็อยู่ในที่เกิดเหตุและสามารถดับไฟได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น กรณีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ประกอบด้วยมาตรา 223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5175 - 5176/2543
ป.อ. มาตรา 217
ป.วิ.อ. มาตรา 227
             คนร้ายลอบวางเพลิงเผาป้ายรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดขององค์การบริหารส่วนตำบลริโก๋ 1 ป้าย และขององค์การบริหารส่วนตำบลกาวะ 1 ป้าย ซึ่งอยู่ริมถนนจารุเสถียรได้รับความเสียหายหลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามได้ขณะกำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่ที่ถนนดังกล่าว
             แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยาน แต่เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยทั้งสามในบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์เกือบจะทันทีทันใดภายหลังเกิดเหตุโดยมีอุปกรณ์ซึ่งสามารถใช้ในการกระทำผิด อุปกรณ์บางอย่างเก็บไว้ในที่ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่ใช้เป็นที่เก็บ โดยเศษผ้าลายชุบน้ำมัน 2 ผืนอยู่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลยที่ 2 และตามเนื้อตัวเสื้อผ้าของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรอยเปื้อนน้ำมัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่เปิดไฟหน้าในลักษณะคล้ายกับกระทำผิดมาแล้วจะหลบหนี เมื่อเห็นจุดตรวจจำเลยที่ 2 ได้ขว้างขวดทิ้ง จากการตรวจพบว่าเป็นขวดแก้วมีคราบน้ำมันเป็นพิรุธถือได้ว่าพยานโจทก์เป็นพยานแวดล้อม กรณีบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามฟ้อง