วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

บุกรุกอสังหาริมทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5132/2555
ป.อ. มาตรา 358, 362
              แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายจะระบุว่า นาย ส. จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นาย ส. ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความระบุว่า ตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง แสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท
             เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของนาย ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในบ้านพิพาทก็มีเจตนาเพื่อปรับปรุงห้องครัวและห้องน้ำภายในบ้านพิพาทจึงมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2768/2551
ป.อ. มาตรา 362
           ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องจัดการหาผลประโยชน์จากการเอาสถานที่เกิดเหตุของโจทก์ร่วมออกให้เช่า โดยจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการเช่าที่ดินที่ถูกบุกรุกมาตั้งแต่แรก
           เมื่อที่ดินบริเวณที่ถูกบุกรุกเป็นของโจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมไม่ได้อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่จำเลยนำที่ดินของโจทก์ร่วมไปให้ผู้อื่นเช่าโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุก โจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ย่อมมีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3877/2551
ป.อ. มาตรา 358, 362, 365
               แม้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยืนยันว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปี 2541 จึงมีคดีพิพาทกับจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้โจทก์ร่วมก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 149/2542 ของศาลชั้นต้น
               แม้ว่าคดีดังกล่าวมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบอันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ว่าโจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยก็อ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่ปี 2513 จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองก่อนที่โจทก์ร่วมจะนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 325 ไปขอออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ในโครงการเดินสำรวจตามประกาศกระทรวง
                แม้ว่าจำเลยไม่ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก.) มาแสดงดังที่โจทก์ฎีกา แต่จำเลยก็อ้างว่าจำเลยมีพยานหลักฐานอื่นคือ หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยตามแบบแสดงรายการที่ดิน ดังนั้น ในขณะที่เกิดเหตุคดีนี้จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดมีสิทธิครอบครองนั้นเป็นเรื่องในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2720/2551
ป.อ. มาตรา 362
                 โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า เมื่อซื้อที่ดินพิพาทจากนางเสงี่ยมแล้วโจทก์ร่วมไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องนางเสงี่ยมเจ้าของที่ดินเดิมปลูกเผือกอยู่ในที่ดินพิพาททั้งแปลง โจทก์ร่วมหาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากนางเสงี่ยมตามที่โจทก์อ้างไม่ และโจทก์ร่วมก็ยังเบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะเสร็จการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่จำเลยที่ 2 ปลูกในที่ดินพิพาท
               ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทมาแล้ว จึงเป็นการเข้าไปในที่ดินโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิม และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของคนต่อมา แม้โจทก์ร่วมจะอ้างว่า จำเลยที่ 2 ตกลงว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทเมื่อเก็บเกี่ยวเผือกเสร็จแล้วแต่ไม่ออกไป ทั้งยังจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินเพื่อทำนาข้าวอีก และโจทก์ร่วมกับภริยาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทได้ห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานบุกรุก เพราะจำเลยที่ 2 กระทำต่อเนื่องจากการที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้
                 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำผิดข้อตกลงที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม และเมื่อจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมแล้วไม่ยอมออกไปเมื่อโจทก์ร่วมแจ้งให้ออก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องการกระทำละเมิดในทางแพ่ง หาเป็นความผิดอาญาตามที่โจทก์ฟ้องไม่



คำพิพากษาศาลฎีกาที่  489/2551
ป.อ. มาตรา 362, 365, 83, 84
              โรงอาหารที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถาบันราชภัฎ น. โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นห้องติดเครื่องปรับอากาศใช้เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารให้แก่นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบัน ตามสัญญาเช่าสถานที่จำหน่ายอาหารที่โจทก์ทำกับสถาบันคงมีเพียงข้อสัญญาว่าสถาบันตกลงให้โจทก์เช่าโรงอาหารมีระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่โจทก์ต้องปฏิบัติในการเข้าประกอบการไว้
               ส่วนลักษณะสภาพการใช้โรงอาหารในการจำหน่ายอาหารของโจทก์นั้นไม่ปรากฏจากข้อสัญญาชัดแจ้งว่ามีการส่งมอบโรงอาหารที่เช่าให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ทีเดียว หรือเป็นแต่เพียงให้โจทก์มีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารเพื่อจำหน่ายอาหารเท่านั้น
               จากประกาศสถาบันราชภัฎ น. ซึ่งเป็นที่มาของการเข้าทำสัญญาเช่าของโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ออกประกาศให้ผู้สนใจเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันยื่นแบบแจ้งความประสงค์ต่อสถาบัน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการประกอบการไว้ในประกาศข้อ 4 และ 5 ว่า การเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันอยู่ในความควบคุมของงานกิจการนักศึกษา โดยเป็นไปเพื่อสวัสดิการนักศึกษา และผู้เข้าประกอบการต้องยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการโรงอาหารของสถาบัน โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงความประสงค์เข้าประกอบการจำหน่ายอาหารต่อสถาบันตามประกาศดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับทราบข้อความและยินยอมตกลงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย การใช้โรงอาหารเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารของโจทก์ตามสัญญาเช่าจึงตกอยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสถาบัน โรงอาหารที่โจทก์เช่าใช้พื้นที่ห้องชั้นล่างของอาคารในบริเวณสถาบันเป็นที่จำหน่ายอาหารจึงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอันเป็นสถานศึกษาของทางราชการที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันอาจต้องเข้าไปตรวจตราในบางโอกาสเพื่อดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย และหลังจากทำสัญญาเจ้าหน้าที่มอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ 1 ชุด และทางสถาบันเก็บไว้ 1 ชุด แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับในการที่ทางสถาบันยังรักษาสิทธิที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในโรงอาหารในเวลาหนึ่งเวลาใดได้อยู่เสมอ
              เห็นได้ว่าโจทก์และสถาบันมีเจตนาทำสัญญาเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพียงแต่ให้โจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารของสถาบันในการจำหน่ายอาหารในพื้นที่ที่จัดไว้ในเวลาเปิดบริการตามระเบียบของสถาบันเท่านั้น หาได้มอบการครอบครองโรงอาหารให้เป็นสิทธิขาดแก่โจทก์ดังเช่นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามธรรมดาไม่ การมอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ก็เพื่อให้ความสะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่โรงอาหารในการประกอบการของโจทก์เท่านั้น โดยสถาบันอนุญาตโจทก์รวมทั้งผู้เช่าช่วงพื้นที่จำหน่ายอาหารจากโจทก์สามารถเข้าไปใช้โรงอาหารที่เช่าเพื่อประกอบการจำหน่ายอาหารโดยใช้ลูกกุญแจที่มอบให้ไว้แก่โจทก์ เมื่อโรงอาหารที่เกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของสถาบันราชภัฎ น. การสั่งการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการให้เข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ในโรงอาหารที่เกิดเหตุ จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7578/2542
ป.อ. มาตรา 365
           จำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมี น.ส.3 ก. แก่ พ.  แต่ พ. ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ยังคงครอบครองทำประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทตลอดมา
           ต่อมา พ. ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่ก็เป็นเพียงดำเนินการทางทะเบียนเท่านั้น โจทก์ยังมิได้ครอบครองที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกได้ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2257/2540
ป.อ. มาตรา 362, 365
ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)
             โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำการก่อเสาปูน เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างกั้นรั้วสังกะสี โดยรอบอาณาเขตที่ดินที่โจทก์มีอำนาจจัดการดูแล อันเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หากตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดินมิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์หามีสิทธิขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ไม่
             แต่ต่อมาภายหลังเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 อันเป็นความผิดต่อส่วนตัว และยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด และตามคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงกันได้โจทก์จึงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 ต่อไป จำเลยที่ 2 ไม่คัดค้านและท้ายคำร้องดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย คำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์จึงเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)