วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4958/2556
ป.อ. มาตรา 157
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (13), 92
                อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนและสร้างบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์การก่อสร้างที่ใช้เป็นที่พักสายตรวจและให้ประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ได้ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ อาคารดังกล่าวได้ขอบ้านเลขที่โดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ได้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว เมื่อประชาชนสามารถเข้ามาติดต่อใช้อาคารในการติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้
              สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ การใช้ห้องพักที่เกิดเหตุแม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ แต่เป็นห้องพักอันเป็นสถานที่ราชการที่เจ้าพนักงานตำรวจอื่นก็เข้าพักอาศัยได้เช่นกัน ดังนี้จากลักษณะการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11190/2555
ป.อ. มาตรา 335 (8)
             การกระทำอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง หาได้หมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ราชการนั้นด้วย การที่จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดไว้ระหว่างป้อมยามที่ 1 และป้อมยามที่ 2 บริเวณทางเข้าวนอุทยานที่เกิดเหตุ ซึ่งมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 335 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9559/2552
ป.อ. มาตรา 334, 335 (8), 335 วรรคแรก, 80
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
               การที่จำเลยเอายาและเครื่องเวชภัณฑ์ใส่ไว้ในถุงพลาสติก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเอาจากห้องคลังยาย่อยโดยตรง หรือในช่วงที่จำเลยเอาไปวางไว้บนชั้นด้านหลังเคาน์เตอร์เภสัชกร ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้เคลื่อนย้ายทรัพย์จากที่ตั้งตามปกติและเข้าถือเอาทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งจำเลยยังได้เดินถือถุงดังกล่าวออกไปด้วย แม้จะยังไม่พ้นจากห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน เพราะนางสาว น. พบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงเอาทรัพย์ไปไม่ได้ก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้และไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
               นอกจากนี้จำเลยเป็นลูกจ้างประจำและทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุห้องจ่ายยาผู้ป่วยในก็เป็นสถานที่ทำงานของจำเลยและเหตุเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจึงลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ และศาลมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

บุกรุกอสังหาริมทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5132/2555
ป.อ. มาตรา 358, 362
              แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายจะระบุว่า นาย ส. จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นาย ส. ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความระบุว่า ตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง แสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท
             เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของนาย ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในบ้านพิพาทก็มีเจตนาเพื่อปรับปรุงห้องครัวและห้องน้ำภายในบ้านพิพาทจึงมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2768/2551
ป.อ. มาตรา 362
           ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องจัดการหาผลประโยชน์จากการเอาสถานที่เกิดเหตุของโจทก์ร่วมออกให้เช่า โดยจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการเช่าที่ดินที่ถูกบุกรุกมาตั้งแต่แรก
           เมื่อที่ดินบริเวณที่ถูกบุกรุกเป็นของโจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมไม่ได้อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่จำเลยนำที่ดินของโจทก์ร่วมไปให้ผู้อื่นเช่าโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุก โจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ย่อมมีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3877/2551
ป.อ. มาตรา 358, 362, 365
               แม้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยืนยันว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปี 2541 จึงมีคดีพิพาทกับจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้โจทก์ร่วมก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 149/2542 ของศาลชั้นต้น
               แม้ว่าคดีดังกล่าวมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบอันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ว่าโจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยก็อ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่ปี 2513 จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองก่อนที่โจทก์ร่วมจะนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 325 ไปขอออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ในโครงการเดินสำรวจตามประกาศกระทรวง
                แม้ว่าจำเลยไม่ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก.) มาแสดงดังที่โจทก์ฎีกา แต่จำเลยก็อ้างว่าจำเลยมีพยานหลักฐานอื่นคือ หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยตามแบบแสดงรายการที่ดิน ดังนั้น ในขณะที่เกิดเหตุคดีนี้จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดมีสิทธิครอบครองนั้นเป็นเรื่องในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2720/2551
ป.อ. มาตรา 362
                 โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า เมื่อซื้อที่ดินพิพาทจากนางเสงี่ยมแล้วโจทก์ร่วมไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องนางเสงี่ยมเจ้าของที่ดินเดิมปลูกเผือกอยู่ในที่ดินพิพาททั้งแปลง โจทก์ร่วมหาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากนางเสงี่ยมตามที่โจทก์อ้างไม่ และโจทก์ร่วมก็ยังเบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะเสร็จการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่จำเลยที่ 2 ปลูกในที่ดินพิพาท
               ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทมาแล้ว จึงเป็นการเข้าไปในที่ดินโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิม และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของคนต่อมา แม้โจทก์ร่วมจะอ้างว่า จำเลยที่ 2 ตกลงว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทเมื่อเก็บเกี่ยวเผือกเสร็จแล้วแต่ไม่ออกไป ทั้งยังจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินเพื่อทำนาข้าวอีก และโจทก์ร่วมกับภริยาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทได้ห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานบุกรุก เพราะจำเลยที่ 2 กระทำต่อเนื่องจากการที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้
                 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำผิดข้อตกลงที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม และเมื่อจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมแล้วไม่ยอมออกไปเมื่อโจทก์ร่วมแจ้งให้ออก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องการกระทำละเมิดในทางแพ่ง หาเป็นความผิดอาญาตามที่โจทก์ฟ้องไม่

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

จัดหางานและฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9828/2554
ป.อ. ฉ้อโกงประชาชน (มาตรา 341, 343)
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มาตรา 91 ตรี)
              จำเลยเป็นผู้ชักชวนพวกผู้เสียหายให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแจ้งถึงรายละเอียดของลักษณะงาน วันเวลาทำงานและรายได้จากการทำงาน โดยยืนยันว่านาย อ. จะเป็นผู้ติดต่อกับนายจ้างชาวญี่ปุ่น ทั้งรับรองว่าหากไม่ได้เดินทางไปทำงานแล้ว จำเลยก็ยินดีคืนเงินให้ทั้งหมด ซึ่งพวกผู้เสียหายก็ได้ชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าบริการให้แก่จำเลย
               เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานในต่างประเทศ จึงส่อแสดงให้เห็นเจตนาทุจริตของจำเลยในการหลอกลวงเอาเงินจากพวกผู้เสียหาย ทั้งจำเลยรู้อยู่แล้วว่านาย อ. กับพวกก็ไม่สามารถจัดส่งพวกผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและนาย อ. กับพวก มิใช่มีลักษณะที่จำเลยกระทำการเป็นนายหน้าหาคนหางาน แต่เป็นลักษณะกระทำการร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำในกระบวนการจัดหางานและฉ้อโกง
              พฤติการณ์แห่งคดีและพฤติกรรมการกระทำของจำเลย ทั้งสภาพความผิดที่เป็นการสร้างความเดือดร้อนและเป็นภัยต่อคนหางานโดยทั่วไป ลักษณะความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้ชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 17 คน ไปบางส่วน และในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยก็ได้ชดใช้เงินช่วยบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอีกจำนวน 17 คน ไปแล้วบางส่วน ทั้งจำเลยยังได้วางเงินอีกบางส่วนต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ผู้เสียหายที่เหลืออีก 3 คน มารับไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด จึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้ลงโทษสถานเบาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275-3276/2554
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มาตรา 30 วรรคหนึ่ง , 82)
               การกระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 คดีนี้แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนในข้อ (ก.) บรรยายว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย แต่ฟ้องของโจทก์ข้อ (ข.) ที่ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนทั่วไป ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานยังต่างประเทศและสามารถหางานในประเทศมาเลเซียให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองไปทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้างได้ โดยจะได้รับค่าจ้างวันละ 40 ถึง 45 ดอลลาร์มาเลเซีย มีสวัสดิการดี ถ้าประสงค์จะไปทำ งานให้สมัครงานและเสียค่าใช้จ่ายคนละ 40,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสี่ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถจัดหางานในประเทศมาเลเซียให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองโดยชอบและถูกต้องได้นั้น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสอง คงมีเจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 82 แม้จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานนี้ได้
                การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปกับโจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคนหางานว่า จำเลยทั้งสี่สามารถหางานในต่างประเทศให้ได้ จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายดังกล่าวหลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสี่ไป โดยที่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น ลักษณะของความผิดเป็นการหลอกลวงคนหมู่มาก โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ทำให้ได้รับความเดือนร้อนและทุกข์ยาก ซึ่งเป็นการกระทำซ้ำเติมต่อประชาชนผู้ซึ่งยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดจึงเป็นภัยต่อสังคมและเป็นเรื่องร้ายแรง การที่จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดที่กระทำก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็ลงโทษเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ด้วยการลงโทษในระวางโทษขั้นตํ่าและลดโทษในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดให้แล้ว ทั้งพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ปรากฏเหตุอื่นถึงขนาดที่จะยกมาเป็นเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจต้องกันให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่โดยไม่รอการลงโทษไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10529/2555
ป.อ. ตัวการ กรรมเดียว หลายกรรม ปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน (มาตรา 83, 90, 91, 340 วรรคสอง, 340 ตรี)
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานหลักฐาน (มาตรา 227)
พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
               ระหว่างเกิดเหตุภายในบ้านเกิดเหตุเปิดไฟนีออนขนาด 340 วัตต์ ไว้ 2 ดวง ร้อยตำรวจเอก ธ. รองสารวัตรวิทยาการจังหวัดสมุทรสาครพยานโจทก์ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ เบิกความว่า พยานได้ทดลองเปิดไฟฟ้าภายในบ้านเกิดเหตุปรากฏว่าแสงสว่างสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะห่างประมาณ 1 ถึง 2 เมตร
               คนร้ายใช้เวลาปล้นทรัพย์เป็นเวลานานถึง 15 นาที ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าจำหน้าจำเลยที่ 1 ได้ขณะที่จำเลยที่ 1 เข้ามากอดปล้ำจับผู้เสียหายเพื่อจะใส่กุญแจมือเป็นเหตุให้หมวกไหมพรมที่คลุมหน้าจำเลยที่ 1 หลุดออกหล่นลงกับพื้น และจำเลยที่ 1 ก็มิได้หยิบหมวกไหมพรมขึ้นมาสวมใส่อีก หลังจากใส่กุญแจมือผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1 ร่วมค้นหาทรัพย์สินกับคนร้ายที่อ้างว่าเป็นจำเลยที่ 2 ในบ้านเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปิดบังใบหน้า ทั้งมิได้ห้ามผู้เสียหายมองหน้าตนแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าผู้เสียหายมีเวลาและโอกาสเห็นและจดจำหน้ารูปร่างของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ผิดพลาด ผู้เสียหายรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนเนื่องจากมีบ้านอยู่ใกล้กัน จำเลยที่ 1 เคยมางานบุญที่บ้านของผู้เสียหาย และผู้เสียหายเคยไปซื้อที่ดินบิดาของจำเลยที่ 1
                หลังเกิดเหตุในคืนนั้นเองผู้เสียหายบอกแก่ร้อยตำรวจเอก ก. ผู้จับจำเลยทั้งสองและพันตำรวจโท จ. พนักงานสอบสวนว่า จำหน้าจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากหมวกไหมพรมของจำเลยที่ 1 หลุดออกมา ในคืนเกิดเหตุเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 มาได้ ผู้เสียหายชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย ข้อเท็จจริงดังกล่าวร้อยตำรวจเอก ก. และพันตำรวจโท จ. พยานโจทก์ได้มาเบิกความสนับสนุนผู้เสียหาย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะใส่ร้ายปรักปรำจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่นั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นตัวการร่วมปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนจริง
                โจทก์ไม่มีอาวุธปืนที่ฟ้องเป็นของกลางมาแสดงต่อศาลว่าเป็นอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 มีเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม
                ผู้เสียหายมิได้เห็นหน้าคนร้ายที่อ้างว่า คือจำเลยที่ 2 คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวมีน้ำหนักน้อย เนื่องจากเสียงพูดของบุคคลแต่ละคนอาจเหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้หรืออาจเลียนแบบให้เหมือนกันได้ โอกาสที่ผู้เสียหายจำเสียงจำเลยที่ 2 ผิดพลาดจึงเป็นไปได้สูงยิ่ง ทั้งลักษณะการแต่งกายที่คล้ายกันมิได้เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายเพราะอาจมีบุคคลอื่นแต่งกายเหมือนกับจำเลยที่ 2 ก็เป็นได้
               จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน จำคุก 18 ปี ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่มีใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7815/2555
ป.อ. ตัวการ สนับสนุน ปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือ ให้พ้นจากการจับกุม (มาตรา 83, 86, 340, 340 ตรี)
             จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ ซ. พวกของจำเลยทั้งสองไปด้วยกัน 8 คน ด้วยรถจักรยานยนต์ 4 คัน และพบผู้เสียหายที่ศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยที่ 1 อยู่กับจำเลยที่ 2 กับพวก ตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 2 กับพวกจอดรถจักรยานยนต์ห่างจากศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทางประมาณ 6 เมตร แล้วพวกของจำเลยที่ 2 คนหนึ่งเข้าไปพูดกับคนรักของผู้เสียหายให้เลิกคบกัน จนเมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ออกจากศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยที่ 1 ก็ร่วมกับจำเลยที่ 2 กับพวกติดตามไป แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมคบคิดวางแผนกับจำเลยที่ 2 กับพวกมาแต่ต้นเพื่อปล้นทรัพย์ผู้เสียหายหรือรู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 กับพวกมาก่อนกระทำความผิด
             ระหว่างที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันทำร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 1 ก็อยู่ที่รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ห่างออกไปถึง 4 ถึง 5 เมตร ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์ที่ปล้นไปได้จากผู้เสียหายด้วย จึงยังไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 กับพวกในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถจักรยานยนต์ตามจำเลยที่ 2 กับพวกที่ขับรถจักรยานยนต์ตามผู้เสียหายมาที่เกิดเหตุ ขณะจำเลยที่ 2 กับพวกกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ก็ยังคงรอที่รถจักรยานยนต์ในลักษณะที่พร้อมจะพาจำเลยที่ 2 กับพวกหลบหนีไปได้ทันที และหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็รับพวกของตนขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปพร้อมกันนั้นเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกในขณะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 กับพวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นจากการจับกุม