วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ผู้ครอบครองทรัพย์ก็เป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5855/2550
ป.อ. มาตรา 335
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 192
              คำว่า “ผู้เสียหาย” ในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกลักไป บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักไปก็เป็นผู้เสียหายได้ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมได้ร่วมกันลักอาหารสัตว์ส่วนหนึ่งในระหว่างทางที่โจทก์ร่วมขนส่งเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท ซ.ผู้ซื้อ ระหว่างการขนส่งอาหารสัตว์ที่บรรทุกในรถยนต์คันเกิดเหตุอาหารสัตว์เหล่านั้นจึงยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ร่วมมีหน้าที่จำต้องส่งมอบอาหารสัตว์ให้ครบจำนวนแก่บริษัท ซ.ผู้ซื้อ โจทก์ร่วมจึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายในเหตุคดีนี้อยู่ด้วยไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ที่โจทก์ร่วมตกลงขายได้โอนไปยังบริษัท ซ. เพราะมีการชั่งน้ำหนักอันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งตั้งแต่ต้นทางการขนส่ง โดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 วรรคแรก แล้วหรือไม่ก็ตาม
              โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเข้าดำเนินคดีเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้โดยชอบ แม้ขณะเกิดเหตุหากกรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ดังกล่าวได้โอนไปยังบริษัท ซ. เสียก่อนแล้วโดยผลของกฎหมายอันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองลักทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซ. ขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสอง ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง กรณีก็เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยทั้งสองมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 83