วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4958/2556
ป.อ. มาตรา 157
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (13), 92
                อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนและสร้างบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์การก่อสร้างที่ใช้เป็นที่พักสายตรวจและให้ประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ได้ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ อาคารดังกล่าวได้ขอบ้านเลขที่โดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ได้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว เมื่อประชาชนสามารถเข้ามาติดต่อใช้อาคารในการติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้
              สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ การใช้ห้องพักที่เกิดเหตุแม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ แต่เป็นห้องพักอันเป็นสถานที่ราชการที่เจ้าพนักงานตำรวจอื่นก็เข้าพักอาศัยได้เช่นกัน ดังนี้จากลักษณะการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11190/2555
ป.อ. มาตรา 335 (8)
             การกระทำอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง หาได้หมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ราชการนั้นด้วย การที่จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดไว้ระหว่างป้อมยามที่ 1 และป้อมยามที่ 2 บริเวณทางเข้าวนอุทยานที่เกิดเหตุ ซึ่งมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 335 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9559/2552
ป.อ. มาตรา 334, 335 (8), 335 วรรคแรก, 80
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
               การที่จำเลยเอายาและเครื่องเวชภัณฑ์ใส่ไว้ในถุงพลาสติก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเอาจากห้องคลังยาย่อยโดยตรง หรือในช่วงที่จำเลยเอาไปวางไว้บนชั้นด้านหลังเคาน์เตอร์เภสัชกร ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้เคลื่อนย้ายทรัพย์จากที่ตั้งตามปกติและเข้าถือเอาทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งจำเลยยังได้เดินถือถุงดังกล่าวออกไปด้วย แม้จะยังไม่พ้นจากห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน เพราะนางสาว น. พบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงเอาทรัพย์ไปไม่ได้ก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้และไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
               นอกจากนี้จำเลยเป็นลูกจ้างประจำและทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุห้องจ่ายยาผู้ป่วยในก็เป็นสถานที่ทำงานของจำเลยและเหตุเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจึงลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ และศาลมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225



คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8106/2548
ป.อ. มาตรา 335 วรรคสอง, 336 ทวิ
              ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นบทบัญญัติเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดไม่ ดังนั้น ศาลต้องเพิ่มระวางโทษตามมาตรา 335 หนักขึ้นกึ่งหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดระหว่างระวางโทษดังกล่าว ไม่ใช่กำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง
             ลานจอดรถของวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีเป็นเพียงสถานที่ซึ่งทางราชการจัดไว้สำหรับเป็นที่จอดรถของบรรดานักศึกษา ผู้มาติดต่อราชการ ตลอดจนข้าราชการของวิทยาลัย หาใช่เป็นสถานที่ซึ่งใช้สำหรับปฏิบัติราชการของข้าราชการในวิทยาลัยโดยตรงแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยทั้งสองลักรถจักรยานยนต์จากบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจึงไม่ใช่การลักทรัพย์ในสถานที่ราชการอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) คงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2845/2543
ป.อ. มาตรา 334, 335 (8)
ป.วิ.อ. มาตรา 227
              จ. ไม่เคยรู้จักผู้เสียหายและจำเลยมาก่อน ทุกครั้งที่ จ. ได้พบเห็นจำเลยก็ได้บอกกล่าวยืนยันตลอดมาว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย จ. กับจำเลยไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความใส่ร้ายจำเลยโดยปราศจากมูลความจริง จ. เห็นการกระทำของจำเลยหลายครั้งหลายหนรวมทั้งที่มีอากัปกิริยาเป็นพิรุธ ซึ่งเชื่อว่าจดจำจำเลยได้แม่นยำไม่ผิดพลาด พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ระหว่างตัวผู้เสียหายกับ จ. ที่เบิกความแตกต่างกันไปบ้าง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในส่วนที่เป็นสิ่งประกอบเล็กน้อย แต่มิใช่เรื่องอันเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการบ่งบอกหรือบ่งชี้ถึงลักษณะอาการของจำเลยโดยตรงหรือขัดกันระหว่างประจักษ์พยานโจทก์สองปากที่รู้เห็นรูปลักษณ์หรือวิธีการกระทำผิดของจำเลยที่แตกต่างกันหรือขัดกัน จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธอันน่าสงสัยและไม่ทำให้น้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์ที่รับฟังได้ต้องลดน้อยลง
             โรงอาหารของมหาวิทยาลัยที่ซึ่งนักศึกษาหรือประชาชนอื่นใดผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการกับมหาวิทยาลัยอันมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปนั่งรับประทานอาหารได้เป็นที่ซึ่งอยู่ภายในบริเวณรั้วของมหาวิทยาลัย แต่เป็นบริเวณนอกอาคารเรียนหรือนอกสถานที่ตั้งอันเป็นที่ปฏิบัติงานของราชการหรือข้าราชการตามปกติ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) คงมีความผิดตามมาตรา 334