วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ลักขุดดินในที่ ส.ป.ก.

คำชี้ขาดความเห็นแย้งความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 83/2554)
ป.อ. กรรมเดียว ลักทรัพย์ (มาตรา 90, 334)
ป. ที่ดิน (มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคแรก)
พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484
              ที่เกิดเหตุเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (1) การที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เข้าถือสิทธิในที่ดิน มิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินในกรณีทั่วไป การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของ ส.ป.ก. จึงไม่ใช่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ (ส.ป.ก) จึงมิใช่เจ้าของที่ดินในที่ดิน ส.ป.ก. การที่ผู้ต้องหาทั้งสองขุดเอาดินในที่ดิน ส.ป.ก. แปลงเกิดเหตุไป จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่น
              การที่ผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันขุดตักดินในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นป่า เข้าข่ายเป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคแรก และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคแรก เป็นความผิดกรรมเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
              ชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335 (7), 336 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13
               สั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 ฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ร่วมกันทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวดหรือที่ทราย ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคแรก วรรคสาม, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 22 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคแรก ประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90 และขอศาลสั่งให้ริบรถแบ็คโฮของกลาง ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 กับสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งสองและบริวารออกจากป่าที่เกิดเหตุ
              แจ้งให้พนักงานสอบสวนทำ การแจ้งข้อหาและสอบปากคำ ให้การผู้ต้องหาทั้งสองตามฐานความผิดดังกล่าวให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่ก่อนยื่นฟ้อง

วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ผู้ครอบครองทรัพย์ก็เป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5855/2550
ป.อ. มาตรา 335
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 192
              คำว่า “ผู้เสียหาย” ในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกลักไป บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักไปก็เป็นผู้เสียหายได้ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมได้ร่วมกันลักอาหารสัตว์ส่วนหนึ่งในระหว่างทางที่โจทก์ร่วมขนส่งเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท ซ.ผู้ซื้อ ระหว่างการขนส่งอาหารสัตว์ที่บรรทุกในรถยนต์คันเกิดเหตุอาหารสัตว์เหล่านั้นจึงยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ร่วมมีหน้าที่จำต้องส่งมอบอาหารสัตว์ให้ครบจำนวนแก่บริษัท ซ.ผู้ซื้อ โจทก์ร่วมจึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายในเหตุคดีนี้อยู่ด้วยไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ที่โจทก์ร่วมตกลงขายได้โอนไปยังบริษัท ซ. เพราะมีการชั่งน้ำหนักอันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งตั้งแต่ต้นทางการขนส่ง โดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 วรรคแรก แล้วหรือไม่ก็ตาม
              โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเข้าดำเนินคดีเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้โดยชอบ แม้ขณะเกิดเหตุหากกรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ดังกล่าวได้โอนไปยังบริษัท ซ. เสียก่อนแล้วโดยผลของกฎหมายอันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองลักทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซ. ขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสอง ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง กรณีก็เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยทั้งสองมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 83

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ฉ้อโกงและความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2554
ป.อ. ฉ้อโกง (มาตรา 341)
พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 (มาตรา 4)
               การที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่า จำเลยซื้อเครื่องประดับจากโจทก์ร่วมเพื่อนำไปขายต่อแก่ผู้อื่น โดยอ้างว่ามีผู้ต้องการซื้ออยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำไปขายให้แก่บุคคลใด กลับนำเครื่องประดับดังกล่าวไปจำนำทั้งหมด เครื่องประดับดังกล่าวรวม 43 รายการ เป็นเงินถึง 7,000,000 บาทเศษ เมื่อนำไปจำนำย่อมได้เงินน้อยกว่าราคาต้นทุนที่จำเลยซื้อมาจากโจทก์ร่วม และจำเลยจะต้องรับผิดชอบส่วนที่ขาดทุนนี้เอง ซึ่งผิดวิสัยผู้ประกอบธุรกิจค้าขายที่ไม่มุ่งหวังกำไรจากการนำสินค้าไปขาย อันเป็นข้อพิรุธให้เห็นตั้งแต่ครั้งแรก
               ส่วนโจทก์ร่วมนั้นหากทราบความเป็นจริงว่า จำเลยจะซื้อเชื่อเครื่องประดับของตนเองเพื่อนำไปจำนำทั้งหมด ย่อมเป็นไปได้ยากที่โจทก์ร่วมจะขายให้ เพราะโจทก์ร่วมเบิกความว่า การนำไปจำนำจะได้เงินเพียง 70 เปอร์เซ็นต์จากราคาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้โจทก์ร่วมไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนในภายหลังเพราะเป็นการซื้อขายเชื่อกัน และจำเลยยังมีหน้าที่ต้องนำเงินมาชำระหนี้เมื่อขายได้ หรือมิฉะนั้นต้องนำเครื่องประดับมาคืนเมื่อขายไม่ได้
               เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาท 35 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระค่าเครื่องประดับให้แก่โจทก์ร่วมถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ และจำเลยหลบหนีไปไม่ยอมชำระหนี้จนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะรับมอบเครื่องประดับจากโจทก์ร่วมไปขาย แล้วจะชำระราคาหรือนำมาคืนหากขายไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนานำเครื่องประดับดังกล่าวไปขาย และมีเจตนาไม่ชำระราคาแก่โจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบเครื่องประดับให้แก่จำเลยไปรวม 17 ครั้ง คิดเป็นราคา 7,786,915 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
              จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ค่าเครื่องประดับที่หลอกลวงไปจากโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แต่เนื่องจากการที่จำเลยหลอกลวงซื้อเชื่อเครื่องประดับจากโจทก์ร่วมมีการวางแผนตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงเครื่องประดับเป็นจำนวนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากก่อนหน้านั้นมีการชำระค่าเครื่องประดับด้วยเช็คซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้บางส่วน พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงอุบายเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อส่งมอบเครื่องประดับให้แก่จำเลยโดยจำเลยมีเจตนาหลอกลวงฉ้อโกงเอาเครื่องประดับไปจากโจทก์ร่วมโดยไม่ชำระราคาแต่ต้น แม้จำเลยจะออกเช็คพิพาท 35 ฉบับ ลงวันที่ล่วงหน้าให้แก่โจทก์ร่วมก็เป็นไปตามที่จำเลยวางแผนไว้ การออกเช็คพิพาทจึงเป็นเพียงการกระทำส่วนหนึ่งของการหลอกลวงและมุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันกับการฉ้อโกงเครื่องประดับจากโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ปลอมปนใส่ในเครื่องดื่มเพื่อเอาทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  248/2543
ป.อ. มาตรา 340
ป.วิ.อ. มาตรา 227
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ยาไดอาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภทที่ 4 ปลอมปนใส่ในเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ให้ผู้เสียหายกับ ซ. ดื่มเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหมดสติอยู่ในภาวะขัดขืนไม่ได้ แล้วพวกของจำเลยได้เอาสร้อยพลอย 91 เส้น ราคา 36,400 บาท ของผู้เสียหายไป แม้จะตรวจพบยาไดอาซีแพมในขวดเครื่องดื่มนมเปรี้ยวก็ตาม แต่หลังเกิดเหตุ 3 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนได้นำผู้เสียหายกับ ช. มามอบให้แพทย์ตรวจร่างกาย ผลการตรวจ ช. มีอาการซึม ถามแล้วไม่ค่อยตอบ ส่วนผู้เสียหายรู้สึกตัวเป็นปกติ จากการตรวจปัสสาวะของผู้เสียหายกับ ซ. ไม่พบยานอนหลับซึ่งเป็นยาระงับประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีฟิน หรือกลุ่มยากระตุ้นประสาทหรือระงับประสาทอื่น ๆ แสดงว่าขณะเกิดเหตุบุคคลทั้งสองมิได้ดื่มเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ที่มียาไดอาซีแพมปลอมปน เพราะยาไดอาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์อย่างหนึ่งในกลุ่มของเบนโซไดอะซีฟิน หากอยู่ในร่างกายมนุษย์แล้วจะมีตัวยาซึมอยู่ในร่างกายประมาณ 3 ถึง 4 วัน และสามารถตรวจสอบปัสสาวะได้ ประกอบกับโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายกับ ซ. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริง คงมีเฉพาะคำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสองและคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมเท่านั้น พยานโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๘๔๕๕/๒๕๕๕
ป.อ.  ลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ (มาตรา ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ)
                จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างและรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเดินทางมายังที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างและรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือใช้ในการพาทรัพย์ไป หรือใช้เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีการจับกุมแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๘๗/๒๕๕๓
ป.อ. ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด  (มาตรา ๓๒, ๓๓)
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการวิ่งราวทรัพย์จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ทราบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖ ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่า ยานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่
              ทั้งการที่จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมก็มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการวิ่งราวทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑)
หมายเหตุ:- ขึ้นอยู่กับการบรรยายฟ้องและนำสืบให้ได้ความว่าผู้กระทำความผิดขับขี่รถจักรยานยนต์มาประกบข้างตัวผู้เสียหาย แล้วกระชากฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปซึ่งหน้าแล้วหลบหนีไปโดยทุจริต ก็จะฟังได้ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๑๔๖/๒๕๕๓
ป.อ. มาตรา ๓๓ (๑)
                การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง กล่าวคือ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งเป็นพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป
                คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะขับตระเวนลักทรัพย์และบรรทุกทรัพย์สินของผู้เสียหายไปขายแก่ผู้รับซื้อของเก่า และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกใช้รถยนต์กระบะของกลางขับตระเวนลักทรัพย์ เป็นเพียงการใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะเดินทางไปยังสถานที่ที่จะลักทรัพย์เท่านั้น
               ทั้งการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว จำเลยกับพวกจึงนำทรัพย์ของผู้เสียหายที่ลักมาบรรทุกรถยนต์กระบะของกลางเพื่อนำไปขายแก่ผู้รับซื้อของเก่า ซึ่งตามปกติรถยนต์กระบะของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อบรรทุกคนหรือสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป ดังนี้ รถยนต์กระบะของกลางจึงไม่ไช่เครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์อันเป็นทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิดโดยตรง จึงริบรถยนต์กระบะของกลางไม่ได้

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ผู้เสียหายแย่งกระเป๋าเงินคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13464/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ป.อ. มาตรา 336, 340
            จำเลยพูดขอเงินผู้เสียหายเพื่อไปซื้อสุรา เมื่อผู้เสียหายไม่ให้เงิน จำเลยใช้มือแย่งกระเป๋าเงินที่ผู้เสียหายถืออยู่มีเงินภายใน 700 บาทไปซึ่งหน้า ผู้เสียหายจึงแย่งกระเป๋าเงินคืน ไม่ปรากฏว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์
            โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาปล้นทรัพย์โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าฉกฉวยซึ่งหน้าแสดงว่าไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ แต่ความผิดฐานนี้รวมความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาด้วยแล้ว ดังนั้น ศาลสามารถลงโทษจำเลยฐานพยายามลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่าถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

ทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2564 
              ป.อ. มาตรา 358 บัญญัติถึงความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์” เห็นได้ว่า องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” นั้น ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น
              เมื่อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเป็นของ ล. และผู้เสียหายยืมจากเพื่อนรุ่นน้องมาใช้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ล. ซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ ได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ได้ ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ 
              เมื่อ ล. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ การที่พนักงานสอบสวน สอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และผู้เสียหายไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2553
ป.อ. มาตรา 83, 217, 358
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225
             การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้ แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ทรัพย์ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้โดยการรื้อออกมา ส่วนการเผาเป็นเพียงแค่การทำลายชิ้นส่วนที่รื้อออกมาจากตัวทรัพย์ซึ่งใช้การไม่ได้ไปแล้วเท่านั้น 
             จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 217 ด้วยไม่ 
             ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้


(Update 10/04/2566)

วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กระชากกระเป๋าจนรถล้ม

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  7650/2554
ป.อ.  วิ่งราวทรัพย์ พยายาม  (มาตรา 336, 336 ทวิ, 83)
               ขณะที่ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งมีนาย ธ. เป็นผู้ขับขี่ จำเลยขับรถจักรยานยนต์มีพวกนั่งซ้อนท้ายมาหนึ่งคน พวกของจําเลยได้กระชากกระเป๋าของผู้เสียหายที่สะพายอยู่ที่ไหล่หลุดออกจากไหล่ ผู้เสียหายได้เอี้ยวตัวหลบและยึดลําตัวนาย ธ. คนขับขี่ไว้ไม่ให้ตกจากรถเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายเสียการทรงตัวไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจําเลยล้มลง จนศีรษะผู้เสียหายกระแทกพื้นถนนหมดสติไป กระเป๋าของผู้เสียหายหล่นไปบนถนนห่างจากจุดเดิม 5 เมตร แสดงว่าพวกของจำเลยกระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายหลุดจากตัวผู้เสียหายมาอยู่ในความครอบครองแล้ว ถือว่าการวิ่งราวเอากระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปจากความครอบครองผู้เสียหายเป็นความผิดสําเร็จแล้ว
              พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, 83 การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทําผิด อันเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ลักข้อมูลส่งทาง email

คําชี้ขาดความเห็นแย้งความผิดฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างในเวลากลางคืน
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 236/2552)
ป.อ.  ลักทรัพย์นายจ้าง (มาตรา 335 (7) (11) )
             การที่ผู้ต้องหาทั้งห้าร่วมกันส่งข้อมูลความลับทางการค้าของบริษัทผู้เสียหายรวม 4 ครั้ง ไปยังบุคคลอื่นทางจดหมายอิเล็คทรอนิคส์นั้น ข้อมูลที่อยู่ในแผ่นบันทึกข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ไม่ถือเป็นวัตถุมีรูปร่าง ตัวอักษร ภาพ แผนผังและตราสาร เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูลโดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล ข้อมูลดังกล่าวไม่ถือเป็นทรัพย์              
             จากการตรวจค้นบริษัท อ. ไม่สามารถตรวจยึดเอกสารของบริษัทผู้เสียหายได้ คงพบเพียงว่ามีข้อมูลของบริษัทผู้เสียหายอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในบริษัทของผู้ต้องหาทั้งห้าเท่านั้น การจัดส่งข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นทางจดหมายอีเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงการทําสําเนาข้อมูล ข้อมูลดังกล่าวยังคงมีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ได้สูญหายหรือถูกทําลายไป การกระทําจึงไม่เป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารและลักทรัพย์

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทุจริตซื้อขายรถยนต์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๗๑๖/๒๕๕๔
ป.อ. มาตรา ๓๕๒
              การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง ๕ งวดติดต่อกัน
              ต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
             การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

คําชี้ขาดความเห็นแย้งความผิดฐานยักยอก
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๕๑๘/๒๕๕๔)
ป.อ.  ยักยอก (มาตรา ๓๕๒)
               ผู้ต้องหาอาศัยการที่เคยรู้จักทําธุรกิจค้าขายรถยนต์ ผู้เสียหายเชื่อใจ และยอมให้ผู้ต้องหานํารถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสันรุ่นฟอนเทียไปขายตามที่ผู้ต้องหาอ้าง ผู้ต้องหาแจ้งว่า ถ้าขายรถยนต์ได้แล้วจะโอนเงินให้ผู้เสียหาย แต่ผู้ต้องหาก็มิได้โอนเงินให้แต่อย่างใด
              ต่อมาไม่นาน ผู้ต้องหาได้นํารถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นไฮแลนเดอร์ มาเสนอขายให้กับผู้เสียหาย ผู้เสียหายตกลงซื้อ ผู้ต้องหาก็ขอรับรถยนต์คันดังกล่าวไปอีก โดยอ้างว่าเพื่อนําไปขายต่อเอากำไรและจะนำเงินที่ขายได้ให้ผู้เสียหาย แต่ผู้ต้องหาก็มิได้โอนเงินค่าขายรถให้แก่ผู้เสียหายแล้วหลบหนีไป ประกอบกับผู้ต้องหาเคยมีประวัติต้องโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และเช็คหลายคดี จึงน่าเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้นในการนํารถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวไป และโดยการหลอกลวงดังนั้นได้ไปซึ่งรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวจากผู้เสียหาย
              การกระทําของผู้ต้องหาจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นการกระทําความผิดสองกรรมต่างกัน แต่ไม่เป็นลักทรัพย์หรือยักยอก
             อัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้องนาย ฐ. ในความผิดฐานยักยอก สั่งฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๗๐๔/๒๕๕๓
ป.อ.ยักยอก  (มาตรา ๓๕๒)
             จำเลยตกลงซื้อรถยนต์กระบะของบริษัทผู้เสียหายจากผู้เช่าซื้อโดยผ่านนาย ก. และจำเลยได้จ่ายเงินส่วนหนึ่งให้แก่ นาย ก. และรับรถยนต์ไป โดยนัดจะไปเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อที่บริษัทผู้เสียหายในวันรุ่งขึ้น แต่จำเลยกลับไม่ไปทำสัญญาเช่าซื้อตามนัด และไม่นำรถยนต์มาคืน ทั้งยังหลบหนีไป จนกระทั่ง ถูกเจ้าพนักงานตำรวจออกหมายจับ
             พฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาเบียดบังเอารถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปเป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๙๖๐/๒๕๕๑
ป.อ. มาตรา ๓๔๑
ป.วิ.อ. มาตรา  ๒ (๔)
               ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัท ต่อมาผู้เสียหายขายดาวน์รถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อแทน จำเลยทำสัญญาซื้อกับผู้เสียหายโดยหลอกลวงใช้ชื่อและที่อยู่ผิดไปจากความจริง และผู้เสียหายขอดูบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากจำเลย แต่จำเลยไม่แสดงให้ผู้เสียหายดู จึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
              อีกทั้ง หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยก็ไม่มาทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อตามที่ตกลงกันไว้ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกในการหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อประสงค์จะไม่ให้ผู้เสียหายติดตามทวงรถยนต์คืนได้ โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งรถยนต์เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย
              แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งการกระทำของผู้เสียหายอาจจะเป็นความฐานยักยอกด้วยหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรงโดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย
               อีกทั้ง ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
              รถยนต์ที่จำเลยฉ้อโกงไปจากผู้เสียหาย ไม่ใช่รถยนต์ของผู้เสียหาย แต่เป็นรถยนต์ของบริษัทเจ้าของรถ ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้เช่าซื้อเท่านั้น ประกอบกับผู้เสียหายชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทดังกล่าวบางส่วน แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนั้น เพื่อให้การคืนรถยนต์หรือใช้ราคาเป็นไปโดยถูกต้อง จึงให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๗๒๗/๒๕๔๔
ป.อ. มาตรา ๓๕๒
             จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม ๓๖ งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรกและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืน เมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ไม่ปรากฏว่านายเหน่งที่ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เป็นคนที่ไหนเกี่ยวข้องใกล้ชิดอย่างไร และเพราะเหตุใดจำเลยจึงส่งมอบรถยนต์ซึ่งมีราคาสูงให้ไปโดยไม่ต้องมีหลักฐาน หากเป็นความจริงตามวิสัยผู้สุจริต จำเลยต้องรีบแจ้งผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ติดตามผู้กระทำผิด และตามรถยนต์คืน แต่จำเลยไม่ได้ทำ ข้ออ้างว่าจำเลยได้แจ้งผู้เสียหายกับแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่เจ้าพนักงานไม่ยอมรับแจ้งนั้นไม่น่าเชื่อ
            ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๘๖๓/๒๕๔๓
ป.อ. มาตรา ๓๔๑ , ๓๕๗
             การกระทำของจำเลยที่กล่าวอ้างต่อผู้เสียหายว่าจะติดต่อให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้าย และเรียกร้องเงินโดยอ้างเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการจำนวน ๓,๕๐๐ บาท กับอ้างว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท แต่ก็ไม่เกิดผลตามที่จำเลยอ้าง ในที่สุดผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รถยนต์กระบะคืน จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยดำเนินคดี
             แม้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและให้จำเลยนำไปบ้านของผู้มีชื่อ ที่อ้างว่าเป็นที่ซ่อนรถยนต์กระบะ ก็ไม่พบ ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นการช่วยจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปอันจะทำให้จำเลยต้องมีความผิดฐานรับของโจร แต่พยานหลักฐานดังกล่าวรับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้เงินแก่จำเลยและได้รับไปแล้ว จำนวน ๓,๕๐๐ บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
             พยานจำเลยซึ่งนำสืบต่อสู้ในทำนองจำเลยเพียงแต่มีเจตนาช่วยเหลือผู้เสียหายนั้นขัดแย้งต่อเหตุผลและผิดวิสัยที่คนซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจะกล้าสอดเข้าไปเป็นตัวกลางระหว่างคนร้ายกับผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าไถ่รถยนต์กระบะดังกล่าวเพราะรังแต่จะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดกับคนร้ายที่ลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์

วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เจตนารับของโจร

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๔๑๕๔/๒๕๕๔
ป.อ.  ลักทรัพย์หรือรับของโจร
              ความผิดฐานรับของโจรโดยรับซื้อหนังสือเก่าไว้นั้น สาระสำคัญของความผิดอยู่ที่จำเลยรู้หรือไม่ว่าหนังสือที่รับซื้อไว้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลย สภาพของหนังสือและราคาซื้อขาย ประกอบกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบรายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่มว่า มีขนาด ราคา หรือความเก่า หรือใหม่ แตกต่างกันเพื่อเปรียบเทียบว่าหนังสือแต่ละเล่มจำเลยรับซื้อในราคาต่ำกว่าราคาจริงเท่าใด จะนำราคาเฉลี่ยมาพิสูจน์การรับรู้เพื่อลงโทษจำเลยหาได้ไม่

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๕๓๘๓/๒๕๕๓
ป.อ. รับของโจร (มาตรา ๓๕๗)
ป.วิ.อ. บรรยายฟ้อง (มาตรา ๑๙๒)
              สำเนารายงานประจําวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ซึ่งระบุว่านาง ส. ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอก พ. ว่านาย บ.ขับรถแท็กซี่ของกลางไปและยังไม่ได้นํามาคืนกับยังไม่ได้จ่ายค่าเช่า แสดงว่านาง ส. รับว่าได้มอบรถแท็กซี่ของกลางให้แก่นาย บ. เช่าขับ อันเป็นการมอบการครอบครองรถแท็กซี่ของกลางให้แก่นาย บ.เช่าขับ อันเป็นการมอบการครอบครองรถแท็กซี่ของกลางให้แก่นาย บ. มิใช่นาย บ.เอารถแท็กซี่ของกลางไปจากความครอบครองของนาง ส. โดยทุจริต พฤติการณ์ที่นาย บ. กับพวกไม่นํารถแท็กซี่ของกลางไปคืนนาง ส. และต่อมานาย ม. นํารถแท็กซี่ของกลางไปให้จําเลยที่ ๒ ซ่อมสีใหม่โดยเปลี่ยนเป็นสีแดงเพื่อใช้เป็นรถยนต์บุคคลและเสนอขายเมื่อมีผู้สนใจขอซื้อ ถือได้ว่านาย บ. กับพวกมีเจตนาเบียดบังรถแท็กซี่ของกลางของผู้เสียหายไปโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก
              รถยนต์แท็กซี่ของกลางก่อนนํามาซ่อมสี มีเครื่องหมายและชื่อสหกรณ์แท็กซี่ ร. ซึ่งเป็นชื่อของผู้เสียหายปรากฏอยู่ แสดงว่าเป็นรถแท็กซี่อยู่ในสังกัดของผู้เสียหาย และมิใช่รถแท็กซี่ส่วนบุคคล เมื่อมีบุคคลอื่นนํารถของกลางมาให้ซ่อมเปลี่ยนเป็นสีแดงเพื่อใช้เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลและเสนอขาย เมื่อมีผู้สนใจจะซื้อ จําเลยมีอาชีพเกี่ยวข้องกับการซ่อมรถและซ่อมสีรถยนต์ ย่อมทราบดีว่ารถแท็กซี่ของกลางมีราคาประมาณเท่าใดและไม่อาจขายโดยไม่มีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ เมื่อจําเลยขายรถของกลางต่ำกว่าราคาที่แท้จริง โดยไม่มีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถย่อมเป็นการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไป ฟังได้ว่าจำเลยรับไว้และช่วยจําหน่ายรถแท็กซี่ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานยักยอก                     ความผิดฐานรับของโจร แม้ฟ้องโจทก์จะบรรยายเพียงว่า จําเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ โดยมิได้บรรยายถึงความผิดฐานยักยอกด้วย แม้ข้อเท็จจริงได้ความจากทางพิจารณาว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทําความผิดฐานยักยอกแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ก็มิใช่ข้อสาระสําคัญ ทั้งจําเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ และไม่ถือว่าข้อพิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๓๙๕/๒๕๓๔
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๕)
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วม เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๘ โดยรถยนต์กระบะดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ ย. ยักยอกจากโจทก์ร่วมโดยทุจริตเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๐ เป็นการฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วม ก่อนที่รถยนต์กระบะนั้นถูก ย. ยักยอกเอาไป การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร

ชิงทรัพย์

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 8790/2554
ป.อ.  ชิงทรัพย์  (มาตรา 339)
              ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ที่เกิดเหตุเป็นสี่แยก ขณะนั้นไม่มีรถสัญจรผ่านไปมา ผู้เสียหายไม่รู้จักจําเลยกับพวกมาก่อน การที่พวกจําเลยขับรถแซงและปาดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายหยุดรถทันทีและตะคอกด่าพร้อมกับพูดว่ามีอะไรส่งมาให้หมด โดยจําเลยกับพวกแสดงสีหน้าขึงขังเช่นนี้ แม้พวกจําเลยจะไม่ได้พูดว่าหากไม่ส่งสิ่งของให้จะทำร้ายผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์ของจําเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการคุกคามผู้เสียหายให้กลัวว่าจะถูกทำร้ายหากไม่ส่งทรัพย์สินให้ จึงเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งกิริยาและวาจาโดยมีความหมายว่า ถ้าผู้เสียหายไม่ให้สิ่งของใดแล้วผู้เสียหายจะถูกทําร้าย จนผู้เสียหายกลัวต้องรีบส่งกระเป๋าสะพายให้จําเลย หาใช่เรื่องที่ผู้เสียหายรู้สึกกลัวไปเองไม่
             การกระทําดังกล่าวจึงเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นให้ซึ่งทรัพย์อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ มิใช่ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ เมื่อขณะเกิดเหตุจําเลยยังคงนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์คันเดียวกันกับพวกและแม้จำเลยจะไม่ได้พูดกับผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายยื่นทรัพย์ให้จําเลยก็รับไว้ แล้วจําเลยกับพวกก็ขับรถจักรยานยนต์หนีไปด้วยกันทันที ถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทําอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2554
ป.อ. ชิงทรัพย์ (มาตรา 339)
               แม้ขณะที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยไม่ได้พูดหรือทำกิริยาอาการอย่างใดที่ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว ขณะที่จะหลบหนี ผู้เสียหายคว้าคอเสื้อของจำเลยไว้ จำเลยดิ้นรนขัดขืนแล้วใช้แขนเหวี่ยงถูกผู้เสียหายเซไป จำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ผู้เสียหายขัดขวางการพาทรัพย์ไปและหลบหนี การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยทุจริต เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (รับจ้างเปิดบัญชี)

             แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call center) เป็นอาชญากรรมระดับชาติ เพราะก่ออาชญากรรมข้ามชาติอย่างน้อยสองประเทศขึ้นไป และมีการแบ่งหน้าที่กันทำหน้าที่ต่างๆ เช่น นายทุน ผู้จัดการ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ ผู้นำเงินออกจากบัญชี ผู้รับจ้างเปิดบัญชี และผู้รวบรวมเงิน เป็นต้น โดยจะมีผู้ทำหน้าที่เสาะหาคนไทยจำพวกนักศึกษา สาวโรงงาน ลูกจ้างตามสถานบริการ หรือประชาชนในชนบทที่ห่างไกลให้เปิดบัญชีธนาคาร แล้วก็ขายสมุดเงินฝาก สมุดเอทีเอ็ม บัตรเอทีเอ็ม ให้กับกลุ่มคนร้ายนี้ เพื่อเอาไว้เป็นบัญชีสำหรับรับเงินที่โอนมาจากผู้เสียหายหรือรับโอนเงินได้มาจากการกระทำความผิด
             วิธีหลอกลวง ทำได้หลายวิธีเช่น เรื่องให้ไปกดตู้เอทีเอ็มเพื่อรับเงินคืนภาษี เรื่องแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร แจ้งว่า ผู้เสียหายมีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตต้องระงับการกระทำทางธุรกรรมทางการเงินในบัญชีธนาคาร และแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ปปง. หลอกลวงยัดเยียดข้อหาว่าจะยึดทรัพย์ผู้เสียหายและดำเนินคดีฐานฟอกเงินเพราะบัญชีธนาคารเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดทางภาคเหนือ เป็นต้น
            ผู้ถูกหลอกลวงจะมีจุดอ่อน คือ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์และการรับฟังข้อมูลข่าวสารมาน้อย มีความโลภ ความหลง ความกลัว และมองคนในแง่ดีเกินไปเชื่อว่าคนส่วนใหญ่พูดความจริงแม้ว่ามองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้ที่โทรศัพท์คุยด้วยก็ตาม ลักษณะเช่นนี้จะเอื้ออำนวยให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้โดยง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและข้าราชการวัยเกษียณ ซึ่งจะมีเงินเก็บก้อนใหญ่และต้องการความมั่นคงหลังจากเกษียนอายุราชการ ไม่อยากมีปัญหาเรื่องคดีความและจะค่อนข้างโดดเดี่ยวไม่มีญาติสนิทให้คำปรึกษาได้ทันท่วงที
            คนร้ายจะโทรศัพท์มาหาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ พูดกับผู้เสียหายโดยใช้จิตวิทยาและเล่ห์เหลี่ยมโดยอาศัยจุดอ่อนดังกล่าว ทำทีแนะนำว่าจะช่วยเหลือไม่ให้เงินถูกอายัดหรือถูกดำเนินคดี ด้วยวิธีการโอนเงินในบัญชีของผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย โดยโอนผ่านตู้เอทีเอ็มพร้อมทั้งบอกให้กดรหัสต่างๆ เปลี่ยนเมนูเป็นภาษาอังกฤษ คนร้ายอ้างว่าต้องตรวจสอบว่าเงินของผู้เสียหายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุม แต่ความจริงแล้ว เป็นการที่ผู้เสียหายทำธุรกรรมโอนเงินจากบัญชีตนเองไปเข้าบัญชีที่คนร้ายว่าจ้างให้คนเปิดบัญชีไว้แล้ว การโอนเงินเข้าบัญชีอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น โอนเงินผ่านระบบอีแบงค์กิ้ง (E-Banking) หรือโอนที่พนักงานเคาท์เตอร์ธนาคาร โดยคนร้ายจะขู่ให้เปิดโทรศัพท์ตลอดเวลาและไม่ยอมให้ผู้เสียหายพูดคุยกับพนักงานธนาคารหรือคนอื่นๆ กรณีที่ผู้เสียหายไม่มีบัตรเอทีเอ็ม ก็จะให้ใช้วิธีถอนเงินสดจากบัญชีมาโดยหลอกลวงว่าเพื่อทำการตรวจนับหมายเลขธนบัตรผ่านเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ หรือตู้ CDM หรือ ADM เครื่องจะทำการตรวจนับครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท แท้จริงแล้วเครื่องจะรับฝากไม่เกินครั้งละ 100,000 บาท แล้วเอาบัตรเอทีเอ็มของผู้เปิดบัญชีไปกดเอาเงินออกจากบัญชีที่ต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน จีน เป็นต้น
            การดำเนินคดี เจ้าพนักงานจะดำเนินการอายัดบัญชีของคนร้ายทั้งหมด แต่คนร้ายจะรีบถอนเงินออกจากบัญชีทันทีที่ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินมาให้ จนเงินแทบไม่เหลือในบัญชี นอกจากนี้ จะดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทั้งหมด
            การรับจ้างเปิดบัญชีเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นเพื่อใช้ในการกระทำผิดนี้เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญาในฐานะเป็นตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดหรือฟอกเงิน ผู้ต้องหารับจ้างเปิดบัญชีรายหนึ่งให้การรับว่า มีคนรู้จักแนะนำให้ไปเปิดบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งโดยจะได้ค่าเปิดบัญชี 500 บาท ซึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 17 ปี และเสพยาบ้าด้วย ไม่มีเงินเสพยา จึงตัดสินใจรับจ้างไปเปิดบัญชีโดยไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ โดยไปรับจ้างเปิดไว้ 2 บัญชี ไม่ทราบว่าผู้ให้ไปเปิดบัญชี้นั้นเอาไปทำอะไร ส่วนผู้ต้องหาที่รับโอนเงินรายหนึ่งให้การรับว่า ได้รับว่าจ้างครั้งละหนึ่งหมื่นบาทให้หาคนมาเปิดบัญชีธนาคารและเก็บบัตรเอทีเอ็ม และให้ตนเป็นคนโอนเงินเข้าบัญชีของคนร้ายอีกคนหนึ่ง ซึ่งบัตรเอทีเอ็มกับสมุดบัญชีนี้จะใช้ในการหลอกลวงเอาเงินผู้อื่นอีกหลายคน
            การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แม้จะมีข่าวสารเผยแพร่ให้ประชาชนได้เห็นอยู่ตามสื่อต่างๆ แต่ก็ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังรู้ไม่เท่าทัน ถูกหลอกลวงจนต้องสูญเสียทรัพย์สินที่หาได้มาทั้งชีวิต บางรายหลงเชื่อถึงขั้นต้องไปกู้ยืมเงินมาโอนเข้าบัญชีของคนร้ายอีกด้วย จึงขอให้ผู้อ่านได้ช่วยประชาสัมพันธ์แก่มิตรสหายคนรอบข้าง หากพบเห็นพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลว่ามีคนกำลังถูกหลอกลวงก็ให้ความช่วยเหลือตักเตือนป้องกันมิให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินและรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของกลุ่มมิจฉาชีพในทันที
            (ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วารสารยุติธรรม "คุยเฟื่องเรื่องกฎหมาย" ส่วนสื่อสารองค์กร สำนักงาน ปปง.)

บุกรุกพยายามลักทรัพย์

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4938/2554
ป.อ.  บุกรุก ลักทรัพย์ พยายาม  (มาตรา  335, 336 ทวิ, 362, 365)
           การที่จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกนํารถบรรทุกของกลางเข้าไปจอดในบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุซึ่งล้อมรั้วสังกะสีไว้ในยามวิกาล แล้วจําเลยที่ ๒ ใช้ไฟฉายส่องไปที่มอเตอร์ซึ่งติดตั้งอยู่บนโครงเหล็กเป็นการสํารวจทรัพย์ที่จะลักและเพื่อจะขนทรัพย์นั้นไปไว้บนรถบรรรทุกของกลาง แม้จำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ แต่นับว่าใกล้ชิดพร้อมที่จะเอาทรัพย์ไปได้ในทันที การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกอยู่ในขั้นลงมือกระทําความผิดแล้ว เพียงแต่กระทําไปไม่ตลอด จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและพยายามลักทรัพย์

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  10381/2553
ป.อ.  ชิงทรัพย์ พยายาม (มาตรา 339, 80, 83)
              พฤติการณ์ที่จําเลยกับพวกจอดรถจักรยานยนต์ของกลางไว้บริเวณใกล้เคียงบ้านของผู้เสียหายแล้วพากันเดินไปที่สุ่มไก่ของผู้เสียหายซึ่งอยู่บริเวณบ้านที่อยู่อาศัยอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายในยามวิกาล แสดงให้เห็นว่าจําเลยกับพวกมีเจตนาจะร่วมกันลักเอาไก่ของผู้เสียหายไป เป็นการลงมือกระทําความผิดแล้ว แต่การยึดถือเอาไก่ไปนั้นยังไม่บรรลุผลอยู่ในขั้นร่วมกันพยายามลักทรัพย์  เมื่อผู้เสียหายออกมาขัดขวางจึงเกิดการทําร้ายซึ่งกันและกัน
             เมื่อจำเลยพยายามลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้าย ชกต่อย และใช้แผ่นเหล็กตีทําร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม โดยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดและพาทรัพย์นั้นไป จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม
             หาจําเป็นต้องถึงขั้นที่จําเลยกับพวกเปิดสุ่มไก่ จับไก่ หรืออุ้มไก่ จึงจะเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตามที่จําเลยฎีกาไม่ ทั้งการกระทําของจําเลยกับพวกดังกล่าวเป็นความผิดซึ่งหน้า ซึ่งผู้เสียหายกับพวกมีสิทธิจับกุมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 79 และ 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10854/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5), 208 (2), 225
             โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในห้องของโรงแรมที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลักทรัพย์สินของโรงแรมและนักท่องเที่ยวที่เก็บรักษาไว้ในห้องพัก จำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะมีผู้พบเห็นและเข้าขัดขวาง ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองพยายามลักเท่านั้น เพราะลักษณะของความผิดย่อมยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นทรัพย์อะไรมีมูลค่าเท่าใด
          แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามลักทรัพย์ของผู้อื่น ฟ้องโจทก์จึงระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีและต่อสู้คดีได้ หาจำต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  772/2534
ป.อ. มาตรา 335 (1) , 335 (8) , 364, 365 (3)
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
            โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยเข้าทางช่องทางซึ่งทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (4) (8) การเข้าไปในเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั่นเอง ความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานจึงเป็นความผิดที่รวมการกระทำผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 อยู่ด้วยในตัว
           แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกในเวลากลางคืน ดังนั้น ศาลลงโทษจำเลยฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย

ลักรถยนต์ไม่ปรากฏรอยงัดแงะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005/2543
ป.อ. มาตรา 335 (3)
              แม้รถกระบะของผู้เสียหายไม่ปรากฏร่องรอยการถูกงัดแงะ ซึ่งฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ก็ตาม แต่การที่จำเลยเข้าไปในรถกระบะของผู้เสียหายโดยผ่านทางประตูรถเข้าไป ถือว่าเป็นการผ่านสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์เข้าไปด้วยประการใด ๆ ตามป.อ.มาตรา 335 (3) แล้ว