วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๘๔๕๕/๒๕๕๕
ป.อ.  ลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ (มาตรา ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ)
                จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างและรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเดินทางมายังที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างและรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือใช้ในการพาทรัพย์ไป หรือใช้เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีการจับกุมแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๘๗/๒๕๕๓
ป.อ. ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด  (มาตรา ๓๒, ๓๓)
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการวิ่งราวทรัพย์จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ทราบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖ ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่า ยานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่
              ทั้งการที่จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมก็มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการวิ่งราวทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑)
หมายเหตุ:- ขึ้นอยู่กับการบรรยายฟ้องและนำสืบให้ได้ความว่าผู้กระทำความผิดขับขี่รถจักรยานยนต์มาประกบข้างตัวผู้เสียหาย แล้วกระชากฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปซึ่งหน้าแล้วหลบหนีไปโดยทุจริต ก็จะฟังได้ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๑๔๖/๒๕๕๓
ป.อ. มาตรา ๓๓ (๑)
                การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง กล่าวคือ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งเป็นพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป
                คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะขับตระเวนลักทรัพย์และบรรทุกทรัพย์สินของผู้เสียหายไปขายแก่ผู้รับซื้อของเก่า และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกใช้รถยนต์กระบะของกลางขับตระเวนลักทรัพย์ เป็นเพียงการใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะเดินทางไปยังสถานที่ที่จะลักทรัพย์เท่านั้น
               ทั้งการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว จำเลยกับพวกจึงนำทรัพย์ของผู้เสียหายที่ลักมาบรรทุกรถยนต์กระบะของกลางเพื่อนำไปขายแก่ผู้รับซื้อของเก่า ซึ่งตามปกติรถยนต์กระบะของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อบรรทุกคนหรือสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป ดังนี้ รถยนต์กระบะของกลางจึงไม่ไช่เครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์อันเป็นทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิดโดยตรง จึงริบรถยนต์กระบะของกลางไม่ได้

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ผู้เสียหายแย่งกระเป๋าเงินคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13464/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ป.อ. มาตรา 336, 340
            จำเลยพูดขอเงินผู้เสียหายเพื่อไปซื้อสุรา เมื่อผู้เสียหายไม่ให้เงิน จำเลยใช้มือแย่งกระเป๋าเงินที่ผู้เสียหายถืออยู่มีเงินภายใน 700 บาทไปซึ่งหน้า ผู้เสียหายจึงแย่งกระเป๋าเงินคืน ไม่ปรากฏว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์
            โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาปล้นทรัพย์โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าฉกฉวยซึ่งหน้าแสดงว่าไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ แต่ความผิดฐานนี้รวมความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาด้วยแล้ว ดังนั้น ศาลสามารถลงโทษจำเลยฐานพยายามลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่าถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

ทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2564 
              ป.อ. มาตรา 358 บัญญัติถึงความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์” เห็นได้ว่า องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” นั้น ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น
              เมื่อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเป็นของ ล. และผู้เสียหายยืมจากเพื่อนรุ่นน้องมาใช้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ล. ซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ ได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ได้ ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ 
              เมื่อ ล. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ การที่พนักงานสอบสวน สอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และผู้เสียหายไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2553
ป.อ. มาตรา 83, 217, 358
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225
             การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้ แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ทรัพย์ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้โดยการรื้อออกมา ส่วนการเผาเป็นเพียงแค่การทำลายชิ้นส่วนที่รื้อออกมาจากตัวทรัพย์ซึ่งใช้การไม่ได้ไปแล้วเท่านั้น 
             จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 217 ด้วยไม่ 
             ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้


(Update 10/04/2566)