วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถือวิสาสะเอาทรัพย์จากอดีตภริยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๘๓/๒๕๕๖
ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) (๘) วรรคสอง, ๓๖๕ (๒) (๓) , ๓๖๔ , ๘๓
               จำเลยที่ ๑ เป็นสามีอยู่กินกับ ก. มาก่อนเกิดเหตุถึง ๗ เดือน เคยนอนพักอาศัยกับ ก. ที่ร้านที่เกิดเหตุ และมีเหตุทะเลาะกันบ่อย ทรัพย์ที่เอาไปล้วนแต่อยู่ในห้องนอนที่จำเลยที่ ๑ นอนกับ ก. ทั้งสิ้น ทั้งที่ชั้นล่างของร้านที่เกิดเหตุก็มีโทรทัศน์สีที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายอีกมากมายแต่ จำเลยที่ ๑ ก็มิได้เอาไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ หาได้มีเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหายไม่
               ชั้นสอบสวน จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อจำเลยที่ ๑ ไป ขอคืนดีกับ ก. แล้ว ก. ไม่ยอมคืนดีด้วย ยังได้ขับไล่ และเอากุญแจร้านให้จำเลยที่ ๑ เพื่อไปขนสิ่งของเครื่องใช้ออกไป จำเลยที่ ๑ จึงชักชวนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไปขนทรัพย์สินของตนเองและของผู้เสียหายรวมไปด้วยเพื่อเป็นข้อต่อรองให้ ก. ยอมคืนดีด้วย หลังเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ก็กลับมานอนที่บ้านของ ก. ไม่ได้หลบหนี เมื่อ ก. ไปทวงถามให้นำทรัพย์สินไปคืน จำเลยที่ ๑ ก็ให้บุตรไปคืนโดยดี ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๑ ถือวิสาสะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเนื่องจากต้องการเป็นข้อต่อรองกับ ก. ให้ยอมคืนดีด้วยเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น จึงมิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
               การกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และแม้จำเลยที่ ๑ จะไม่มีกุญแจร้านที่เกิดเหตุ แต่จำเลยที่ ๑ ก็พักอาศัยอยู่ที่ร้านเกิดเหตุกับ ก. มานาน โดยบางครั้งก็นอนที่ร้านกับ ก. และบางครั้งก็นอนที่บ้านบิดามารดาของ ก. ตามพฤติการณ์ถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้พักอาศัยอยู่ที่ร้านที่เกิดเหตุด้วยการเข้าไปในร้านของผู้เสียหายเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยจำเลยที่ ๑ ขนทรัพย์สินตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องเช่นเดียวกัน

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ลักทรัพย์ในสถานที่บูชาสาธารณะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9693/2544
ป.อ. มาตรา 335 (1) (9)
               สถานที่เกิดเหตุเป็นบริเวณหน้าที่ตั้งศพอดีตเจ้าอาวาสซึ่งอยู่หน้ากุฏิเจ้าอาวาส เป็นเพียงสถานที่ในวัด ที่จัดนำศพอดีตเจ้าอาวาสมาตั้งไว้เพื่อรอการพระราชทานเพลิงศพเท่านั้น ไม่ถือว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่บูชาสาธารณะ
               การที่จำเลยลักตู้รับเงินบริจาคซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าศพอดีตเจ้าอาวาสดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่บูชาสาธารณะ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2014/2536
ป.อ. มาตรา 1(4), 335(8), 335(9)
               จำเลยได้เข้าไปลักเอาเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเก็บไว้ภายในกุฏิของวัด คำว่า "กุฏิ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า "เรือนหรือตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่" ดังนั้น กุฏิพระจึงเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรเท่านั้น หาใช่สถานที่บูชาสาธารณะ แต่เป็น "เคหสถาน"ตามนัยมาตรา 1 (4) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การลักทรัพย์ในบริเวณกุฏิพระจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2226/2531
ป.อ. มาตรา 335 ทวิ, 340 ทวิ
             เงินในตู้บริจาคของศาลเจ้าและเงินของผู้ดูแลศาลเจ้า แม้จะเก็บรักษาไว้ในศาลเจ้า ก็มิใช่วัตถุในทางศาสนา การปล้นทรัพย์รายนี้จึงมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก เมื่อมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรกแล้ว จึงไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสองได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 ทวิ ไม่ว่าจะเป็นวรรคใด

            อุโบสถ คือ สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ ภาษาปากเรียกย่อว่า โบสถ์ เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ
            วิหาร คือ อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคล้ายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า คู่กับอุโบสถ แต่ไม่มีวิสุงคามเหมือนพระอุโบสถ คำว่า วิหาร แต่เดิมใช้ในความหมายว่า วัด เช่นเดียวกับคำว่า อาราม อาวาส เช่น เวฬุวัน วิหาร เชตวันมหาวิหาร
            ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารอเนกประสงค์ในงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งก่อสร้างในเขตสังฆาวาส ในบริเวณวัด เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา แต่เดิมนั้นใช้เป็นสถานที่เพื่อการเรียนของสงฆ์เท่านั้น 

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275-3276/2554
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528  มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 วรรคหนึ่ง

               การกระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528
               คดีนี้แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนในข้อ (ก.) บรรยายว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย แต่ฟ้องของโจทก์ข้อ (ข.) ที่ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนทั่วไป ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานยังต่างประเทศและสามารถหางานในประเทศมาเลเซียให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองไปทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้างได้ โดยจะได้รับค่าจ้างวันละ 40 ถึง 45 ดอลลาร์มาเลเซีย มีสวัสดิการดี ถ้าประสงค์จะไปทำงานให้สมัครงานและเสียค่าใช้จ่ายคนละ 40,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสี่
               ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถจัดหางานในประเทศมาเลเซียให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองโดยชอบและถูกต้องได้นั้น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสอง คงมีเจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองเท่านั้น
               การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 82 แม้จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานนี้ได้
              การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปกับโจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคนหางานว่าจำเลยทั้งสี่สามารถหางานในต่างประเทศให้ได้ จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายดังกล่าวหลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสี่ไป โดยที่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น ลักษณะของความผิดเป็นการหลอกลวงคนหมู่มาก โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ทำให้ได้รับความเดือนร้อนและทุกข์ยาก ซึ่งเป็นการกระทำซ้ำเติมต่อประชาชนผู้ซึ่งยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดจึงเป็นภัยต่อสังคมและเป็นเรื่องร้ายแรง
               การที่จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดที่กระทำ ก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษซึ่งศาลล่างทั้งสองก็ลงโทษเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ด้วยการลงโทษในระวางโทษขั้นตํ่าและลดโทษในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดให้แล้ว ทั้งพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ปรากฏเหตุอื่นถึงขนาดที่จะยกมาเป็นเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่