วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ฉ้อโกงโดยชักชวนให้เล่นการพนัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2555
ป.อ. ฉ้อโกง หลายกรรม (มาตรา 341, 91)
ป.วิ.อ. ผู้เสียหาย (มาตรา 2 (4))
              จำเลยกับพวกมีเจตนาร่วมกันทุจริตมาแต่แรกโดยหลอกลวงว่า จะซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมไปพบจำเลย ซึ่งพวกของจำเลยอ้างว่าเป็นเถ้าแก่จะซื้อที่ดิน จำเลยกับพวกกลับชักนำให้โจทก์ร่วม ร่วมลงหุ้นเล่นการพนันกับพวกของจำเลย โจทก์ร่วมต้องเสียเงินที่ลงหุ้นไป 900,000 บาท แล้วจำเลยกับพวกยังหลอกลวงให้โจทก์ร่วมส่งเงินให้อีก 100,000 บาท อ้างว่าจะนำไปไถ่ถอนที่ดินที่จำนองแล้วจำนองใหม่ เพื่อนำเงินไปเล่นการพนันแก้มือ โจทก์ร่วมส่งเงินให้แล้ว ติดต่อจำเลยไม่ได้ และไม่มีการเล่นการพนันแก้มือ
              พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกดังกล่าว หากไม่มีการนัดแนะและร่วมกันวางแผนมาก่อน ผลจะเกิดสอดคล้องกันไม่ได้ การติดต่อขอซื้อที่ดินของโจทก์ร่วมและการเล่นการพนันเป็นเพียงเหตุการณ์ที่จำเลยกับพวกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงเอาเงินของโจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมเข้าสู่หลุมพรางที่จำเลยกับพวกดักไว้ทำให้จำเลยกับพวกได้เงินจากโจทก์ร่วมไป 1,000,000 บาท จะถือว่าโจทก์ร่วมสมัครใจเข้าร่วมเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือร่วมกระทำความผิดด้วยไม่ได้
             โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจ่ายเงินให้จำเลยไป 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท เป็นความผิดฐานฉ้อโกงสองกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1335/2552
           จำเลยทั้งสามกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่เป็นแผนการหรือกลอุบายอย่างหนึ่งที่จำเลยทั้งสามสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อจะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วม ทั้งโจทก์ร่วมมิได้มีเจตนาที่จะไปร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสามมาแต่ต้น
           การที่โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเพื่อเข้าหุ้นเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางกับดักเอาไว้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสามโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343 / 2549
           จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายได้ทำพิธีปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ได้เลขท้าย 2 ตัว ของรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อได้เลข 96 มาแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายตกลงกันว่าจะไปซื้อหวยใต้ดิน ผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อหวยใต้ดิน หลังจากมอบเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกก็หลบหนีไป
             พฤติการณ์ของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา ผู้เสียหายคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ผู้จัดการทรัพย์สินยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 987/2554
ป.อ. มาตรา 86, 352, 353, 354
            จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
            แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบด้วยมาตรา 86

คำพิพากษาฎีกาที่ 532/2553
ป.อ. มาตรา 86, 353, 354
             จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม
             แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมาก ก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาฎีกาที่ 604/2537
ป.อ. มาตรา 354
             ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ผู้ตาย ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ได้จดทะเบียนขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ ว. โดยไม่ได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปด้วยวิธีการอันไม่สุจริต หรือมีเจตนาที่จะเบียดบังเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกไว้โดยทุจริตอย่างไร ทั้งก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่เคยทวงถามจำเลยให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่ การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทำการขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปนั้น จึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการ และแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719, 1750 คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลดังฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2534
             คำบรรยายฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยได้กระทำผิด ยักยอกในฐานผู้มีอาชีพหรือประกอบธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานธนาคารและเป็นตัวแทนของโจทก์ ในการจัดเก็บหนี้สินจากลูกหนี้ของโจทก์ เพื่อนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ และจำเลยยังเป็นผู้ดูแลเงินฝากของโจทก์ด้วย แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนที่ดี กลับเบียดบังเงินในบัญชีของโจทก์หรือเงินที่เก็บมาจากลูกหนี้ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
             ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยที่เป็นตัวแทนของโจทก์ตามฟ้อง เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับการที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคาร ซึ่งเป็นอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน หรือเป็นการที่โจทก์มอบให้จำเลยกระทำเป็นตัวแทนของโจทก์เป็นการส่วนตัว ฟ้องของโจทก์จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามมาตรา 354 แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้างมาตรา 354 มาด้วยก็ตาม ก็เป็นการระบุเกินมาจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 354 ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.อ. มาตรา 193 ทวิ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3595/2532
ป.อ. มาตรา 83, 86, 352, 354
             ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ ข้อที่ว่า "ผู้ใดครอบครองทรัพย์" นั้น มิใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวผู้กระทำ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำอันหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคารยักยอกทรัพย์ของธนาคาร จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83
             แม้จำเลยจะร่วมกระทำผิดกับผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนก็เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เฉพาะวรรคสอง)