วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (รับจ้างเปิดบัญชี)

             แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call center) เป็นอาชญากรรมระดับชาติ เพราะก่ออาชญากรรมข้ามชาติอย่างน้อยสองประเทศขึ้นไป และมีการแบ่งหน้าที่กันทำหน้าที่ต่างๆ เช่น นายทุน ผู้จัดการ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ ผู้นำเงินออกจากบัญชี ผู้รับจ้างเปิดบัญชี และผู้รวบรวมเงิน เป็นต้น โดยจะมีผู้ทำหน้าที่เสาะหาคนไทยจำพวกนักศึกษา สาวโรงงาน ลูกจ้างตามสถานบริการ หรือประชาชนในชนบทที่ห่างไกลให้เปิดบัญชีธนาคาร แล้วก็ขายสมุดเงินฝาก สมุดเอทีเอ็ม บัตรเอทีเอ็ม ให้กับกลุ่มคนร้ายนี้ เพื่อเอาไว้เป็นบัญชีสำหรับรับเงินที่โอนมาจากผู้เสียหายหรือรับโอนเงินได้มาจากการกระทำความผิด
             วิธีหลอกลวง ทำได้หลายวิธีเช่น เรื่องให้ไปกดตู้เอทีเอ็มเพื่อรับเงินคืนภาษี เรื่องแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร แจ้งว่า ผู้เสียหายมีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตต้องระงับการกระทำทางธุรกรรมทางการเงินในบัญชีธนาคาร และแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ปปง. หลอกลวงยัดเยียดข้อหาว่าจะยึดทรัพย์ผู้เสียหายและดำเนินคดีฐานฟอกเงินเพราะบัญชีธนาคารเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดทางภาคเหนือ เป็นต้น
            ผู้ถูกหลอกลวงจะมีจุดอ่อน คือ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์และการรับฟังข้อมูลข่าวสารมาน้อย มีความโลภ ความหลง ความกลัว และมองคนในแง่ดีเกินไปเชื่อว่าคนส่วนใหญ่พูดความจริงแม้ว่ามองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้ที่โทรศัพท์คุยด้วยก็ตาม ลักษณะเช่นนี้จะเอื้ออำนวยให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้โดยง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและข้าราชการวัยเกษียณ ซึ่งจะมีเงินเก็บก้อนใหญ่และต้องการความมั่นคงหลังจากเกษียนอายุราชการ ไม่อยากมีปัญหาเรื่องคดีความและจะค่อนข้างโดดเดี่ยวไม่มีญาติสนิทให้คำปรึกษาได้ทันท่วงที
            คนร้ายจะโทรศัพท์มาหาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ พูดกับผู้เสียหายโดยใช้จิตวิทยาและเล่ห์เหลี่ยมโดยอาศัยจุดอ่อนดังกล่าว ทำทีแนะนำว่าจะช่วยเหลือไม่ให้เงินถูกอายัดหรือถูกดำเนินคดี ด้วยวิธีการโอนเงินในบัญชีของผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย โดยโอนผ่านตู้เอทีเอ็มพร้อมทั้งบอกให้กดรหัสต่างๆ เปลี่ยนเมนูเป็นภาษาอังกฤษ คนร้ายอ้างว่าต้องตรวจสอบว่าเงินของผู้เสียหายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุม แต่ความจริงแล้ว เป็นการที่ผู้เสียหายทำธุรกรรมโอนเงินจากบัญชีตนเองไปเข้าบัญชีที่คนร้ายว่าจ้างให้คนเปิดบัญชีไว้แล้ว การโอนเงินเข้าบัญชีอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น โอนเงินผ่านระบบอีแบงค์กิ้ง (E-Banking) หรือโอนที่พนักงานเคาท์เตอร์ธนาคาร โดยคนร้ายจะขู่ให้เปิดโทรศัพท์ตลอดเวลาและไม่ยอมให้ผู้เสียหายพูดคุยกับพนักงานธนาคารหรือคนอื่นๆ กรณีที่ผู้เสียหายไม่มีบัตรเอทีเอ็ม ก็จะให้ใช้วิธีถอนเงินสดจากบัญชีมาโดยหลอกลวงว่าเพื่อทำการตรวจนับหมายเลขธนบัตรผ่านเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ หรือตู้ CDM หรือ ADM เครื่องจะทำการตรวจนับครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท แท้จริงแล้วเครื่องจะรับฝากไม่เกินครั้งละ 100,000 บาท แล้วเอาบัตรเอทีเอ็มของผู้เปิดบัญชีไปกดเอาเงินออกจากบัญชีที่ต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน จีน เป็นต้น
            การดำเนินคดี เจ้าพนักงานจะดำเนินการอายัดบัญชีของคนร้ายทั้งหมด แต่คนร้ายจะรีบถอนเงินออกจากบัญชีทันทีที่ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินมาให้ จนเงินแทบไม่เหลือในบัญชี นอกจากนี้ จะดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทั้งหมด
            การรับจ้างเปิดบัญชีเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นเพื่อใช้ในการกระทำผิดนี้เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญาในฐานะเป็นตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดหรือฟอกเงิน ผู้ต้องหารับจ้างเปิดบัญชีรายหนึ่งให้การรับว่า มีคนรู้จักแนะนำให้ไปเปิดบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งโดยจะได้ค่าเปิดบัญชี 500 บาท ซึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 17 ปี และเสพยาบ้าด้วย ไม่มีเงินเสพยา จึงตัดสินใจรับจ้างไปเปิดบัญชีโดยไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ โดยไปรับจ้างเปิดไว้ 2 บัญชี ไม่ทราบว่าผู้ให้ไปเปิดบัญชี้นั้นเอาไปทำอะไร ส่วนผู้ต้องหาที่รับโอนเงินรายหนึ่งให้การรับว่า ได้รับว่าจ้างครั้งละหนึ่งหมื่นบาทให้หาคนมาเปิดบัญชีธนาคารและเก็บบัตรเอทีเอ็ม และให้ตนเป็นคนโอนเงินเข้าบัญชีของคนร้ายอีกคนหนึ่ง ซึ่งบัตรเอทีเอ็มกับสมุดบัญชีนี้จะใช้ในการหลอกลวงเอาเงินผู้อื่นอีกหลายคน
            การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แม้จะมีข่าวสารเผยแพร่ให้ประชาชนได้เห็นอยู่ตามสื่อต่างๆ แต่ก็ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังรู้ไม่เท่าทัน ถูกหลอกลวงจนต้องสูญเสียทรัพย์สินที่หาได้มาทั้งชีวิต บางรายหลงเชื่อถึงขั้นต้องไปกู้ยืมเงินมาโอนเข้าบัญชีของคนร้ายอีกด้วย จึงขอให้ผู้อ่านได้ช่วยประชาสัมพันธ์แก่มิตรสหายคนรอบข้าง หากพบเห็นพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลว่ามีคนกำลังถูกหลอกลวงก็ให้ความช่วยเหลือตักเตือนป้องกันมิให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินและรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของกลุ่มมิจฉาชีพในทันที
            (ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วารสารยุติธรรม "คุยเฟื่องเรื่องกฎหมาย" ส่วนสื่อสารองค์กร สำนักงาน ปปง.)


คําชี้ขาดความเห็นแย้งฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 165/2555)
ป.อ.  ตัวการ ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น  ฉ้อโกงประชาชน  (มาตรา 83, 342 (1), 343)
             ผู้เสียหายเป็นพยานยืนยันว่า ได้ถูกกลุ่มคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ไปหลอกลวงผู้เสียหาย  โดยคนแรกจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหลอกลวงผู้เสียหายเป็นหนี้บัตรเครดิต จากนั้น ได้โอนสายให้พวกคนที่สองอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะช่วยเหลือตรวจสอบให้และหลอกให้ผู้เสียหายนําสมุดบัญชีธนาคารไปทําบัตรเอทีเอ็มขึ้นใหม่ แล้วให้ผู้เสียหายนำบัตรดังกล่าวไปทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มโดยกดเลขรหัสโอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย จํานวน 199,988 บาท ไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ต้องหาที่ 1 จากนั้นผู้ต้องหาที่ 2 ได้เบิกถอนเงินสดดังกล่าวออกจากบัญชีหลบหนีไป พฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกดังกล่าว เป็นลักษณะกระบวนการหลอกลวงประชาชนที่มีอยู่แพร่หลายในปัจจุบัน โดยกลุ่มคนร้ายจะสุ่มโทรศัพท์ไปยังหมายเลขต่าง ๆ ซึ่งผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อบ้าง ไม่หลงเชื่อบ้าง ผู้เสียหายเป็นเพียงรายหนึ่งที่ถูกหลอกลวงให้โอนเงิน แม้จะตรวจสอบไม่ได้ว่าผู้ใดถูกหลอกลวงไปบ้าง พยานหลักฐานดังกล่าวฟังว่าเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น

คำชี้ขาดความเห็นแย้งความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๗๕/๒๕๕๕)
ป.อ.  ลักทรัพย์ ฉ้อโกง  (มาตรา ๓๓๕, ๓๔๑, ๘๓)
            ผู้ต้องหากับพวกซึ่งเป็นผู้หญิงมีเจตนาทุจริตวางแผนการมาแต่แรก ใช้วิธีการโอนทางตู้เอทีเอ็มของธนาคารในการหลอกลวงผู้เสียหาย แล้วพวกของผู้ต้องหาได้ทำการโทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหายอ้างว่า โทรมาจากกรมสรรพากรแจ้งว่า ผู้เสียหายจะได้รับเงินภาษีคืนจำนวน ๑๒,๙๘๘ บาท ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจะรับเงินโอนทางตู้เอทีเอ็มจึงสมัครใจดำเนินการทำธุรกรรมกับธนาคารทางตู้เอทีเอ็มโดยใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทำรายการตามที่พวกของผู้ต้องหาบอก จนเป็นเหตุให้เงินในบัญชีของผู้เสียหายจำนวน ๑๙๙,๖๘๘ บาท โอนเข้าไปบัญชีของผู้ต้องหาแล้วถูกถอนเงินออกทางตู้เอทีเอ็มทันที ผู้ต้องหากับพวกจึงได้เงินของผู้เสียหายไปเพราะการหลอกลวง ไม่ใช่ผู้ต้องหากับพวกเอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ แต่การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
             อัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ฐานร่วมกันลักทรัพย์

บทความที่เกี่ยวข้อง
ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ