วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10529/2555
ป.อ. ตัวการ กรรมเดียว หลายกรรม ปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน (มาตรา 83, 90, 91, 340 วรรคสอง, 340 ตรี)
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานหลักฐาน (มาตรา 227)
พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
               ระหว่างเกิดเหตุภายในบ้านเกิดเหตุเปิดไฟนีออนขนาด 340 วัตต์ ไว้ 2 ดวง ร้อยตำรวจเอก ธ. รองสารวัตรวิทยาการจังหวัดสมุทรสาครพยานโจทก์ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ เบิกความว่า พยานได้ทดลองเปิดไฟฟ้าภายในบ้านเกิดเหตุปรากฏว่าแสงสว่างสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะห่างประมาณ 1 ถึง 2 เมตร
               คนร้ายใช้เวลาปล้นทรัพย์เป็นเวลานานถึง 15 นาที ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าจำหน้าจำเลยที่ 1 ได้ขณะที่จำเลยที่ 1 เข้ามากอดปล้ำจับผู้เสียหายเพื่อจะใส่กุญแจมือเป็นเหตุให้หมวกไหมพรมที่คลุมหน้าจำเลยที่ 1 หลุดออกหล่นลงกับพื้น และจำเลยที่ 1 ก็มิได้หยิบหมวกไหมพรมขึ้นมาสวมใส่อีก หลังจากใส่กุญแจมือผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1 ร่วมค้นหาทรัพย์สินกับคนร้ายที่อ้างว่าเป็นจำเลยที่ 2 ในบ้านเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปิดบังใบหน้า ทั้งมิได้ห้ามผู้เสียหายมองหน้าตนแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าผู้เสียหายมีเวลาและโอกาสเห็นและจดจำหน้ารูปร่างของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ผิดพลาด ผู้เสียหายรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนเนื่องจากมีบ้านอยู่ใกล้กัน จำเลยที่ 1 เคยมางานบุญที่บ้านของผู้เสียหาย และผู้เสียหายเคยไปซื้อที่ดินบิดาของจำเลยที่ 1
                หลังเกิดเหตุในคืนนั้นเองผู้เสียหายบอกแก่ร้อยตำรวจเอก ก. ผู้จับจำเลยทั้งสองและพันตำรวจโท จ. พนักงานสอบสวนว่า จำหน้าจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากหมวกไหมพรมของจำเลยที่ 1 หลุดออกมา ในคืนเกิดเหตุเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 มาได้ ผู้เสียหายชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย ข้อเท็จจริงดังกล่าวร้อยตำรวจเอก ก. และพันตำรวจโท จ. พยานโจทก์ได้มาเบิกความสนับสนุนผู้เสียหาย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะใส่ร้ายปรักปรำจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่นั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นตัวการร่วมปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนจริง
                โจทก์ไม่มีอาวุธปืนที่ฟ้องเป็นของกลางมาแสดงต่อศาลว่าเป็นอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 มีเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม
                ผู้เสียหายมิได้เห็นหน้าคนร้ายที่อ้างว่า คือจำเลยที่ 2 คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวมีน้ำหนักน้อย เนื่องจากเสียงพูดของบุคคลแต่ละคนอาจเหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้หรืออาจเลียนแบบให้เหมือนกันได้ โอกาสที่ผู้เสียหายจำเสียงจำเลยที่ 2 ผิดพลาดจึงเป็นไปได้สูงยิ่ง ทั้งลักษณะการแต่งกายที่คล้ายกันมิได้เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายเพราะอาจมีบุคคลอื่นแต่งกายเหมือนกับจำเลยที่ 2 ก็เป็นได้
               จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน จำคุก 18 ปี ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่มีใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7815/2555
ป.อ. ตัวการ สนับสนุน ปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือ ให้พ้นจากการจับกุม (มาตรา 83, 86, 340, 340 ตรี)
             จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ ซ. พวกของจำเลยทั้งสองไปด้วยกัน 8 คน ด้วยรถจักรยานยนต์ 4 คัน และพบผู้เสียหายที่ศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยที่ 1 อยู่กับจำเลยที่ 2 กับพวก ตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 2 กับพวกจอดรถจักรยานยนต์ห่างจากศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทางประมาณ 6 เมตร แล้วพวกของจำเลยที่ 2 คนหนึ่งเข้าไปพูดกับคนรักของผู้เสียหายให้เลิกคบกัน จนเมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ออกจากศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทาง จำเลยที่ 1 ก็ร่วมกับจำเลยที่ 2 กับพวกติดตามไป แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมคบคิดวางแผนกับจำเลยที่ 2 กับพวกมาแต่ต้นเพื่อปล้นทรัพย์ผู้เสียหายหรือรู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 กับพวกมาก่อนกระทำความผิด
             ระหว่างที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันทำร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 1 ก็อยู่ที่รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ห่างออกไปถึง 4 ถึง 5 เมตร ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์ที่ปล้นไปได้จากผู้เสียหายด้วย จึงยังไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 กับพวกในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถจักรยานยนต์ตามจำเลยที่ 2 กับพวกที่ขับรถจักรยานยนต์ตามผู้เสียหายมาที่เกิดเหตุ ขณะจำเลยที่ 2 กับพวกกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ก็ยังคงรอที่รถจักรยานยนต์ในลักษณะที่พร้อมจะพาจำเลยที่ 2 กับพวกหลบหนีไปได้ทันที และหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็รับพวกของตนขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปพร้อมกันนั้นเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกในขณะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 กับพวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นจากการจับกุม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2554
ป.อ. ปล้นทรัพย์  (มาตรา 340)
              การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรง ๆ หรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ
             การที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย โดย ม. พวกของจำเลยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายจึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว
            ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุไม่เกิน 20 ปี และกระทำผิดโดยมิได้ใช้อาวุธลักษณะเป็นการกระทำของวัยรุ่นที่คึกคะนอง ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาและชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 20,000 บาท ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ ปรากฏว่าจำเลยเป็นนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2554
ป.อ. ตัวการ ปล้นทรัพย์ (มาตรา 83, 340, 340 ตรี)
             จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกมาดักรอผู้เสียหายทั้งสองที่บริเวณใต้สะพาน เมื่อผู้เสียหายทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา พวกของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถือไม้หน้าสามมายืนขวางถนนแล้วใช้ไม้หน้าสามตีทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ทันที จนรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลง เมื่อผู้เสียหายทั้งสองแยกย้ายกันหลบหนี จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกยังตามไปทำร้ายและปลดเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปในทันทีต่อเนื่องกัน
             ตามพฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบดังกล่าวบ่งชี้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองมาแต่แรก จึงมาดักรอทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเพื่อปลดเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส