วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

จัดหางานและฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9828/2554
ป.อ. ฉ้อโกงประชาชน (มาตรา 341, 343)
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มาตรา 91 ตรี)
              จำเลยเป็นผู้ชักชวนพวกผู้เสียหายให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแจ้งถึงรายละเอียดของลักษณะงาน วันเวลาทำงานและรายได้จากการทำงาน โดยยืนยันว่านาย อ. จะเป็นผู้ติดต่อกับนายจ้างชาวญี่ปุ่น ทั้งรับรองว่าหากไม่ได้เดินทางไปทำงานแล้ว จำเลยก็ยินดีคืนเงินให้ทั้งหมด ซึ่งพวกผู้เสียหายก็ได้ชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าบริการให้แก่จำเลย
               เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานในต่างประเทศ จึงส่อแสดงให้เห็นเจตนาทุจริตของจำเลยในการหลอกลวงเอาเงินจากพวกผู้เสียหาย ทั้งจำเลยรู้อยู่แล้วว่านาย อ. กับพวกก็ไม่สามารถจัดส่งพวกผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและนาย อ. กับพวก มิใช่มีลักษณะที่จำเลยกระทำการเป็นนายหน้าหาคนหางาน แต่เป็นลักษณะกระทำการร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำในกระบวนการจัดหางานและฉ้อโกง
              พฤติการณ์แห่งคดีและพฤติกรรมการกระทำของจำเลย ทั้งสภาพความผิดที่เป็นการสร้างความเดือดร้อนและเป็นภัยต่อคนหางานโดยทั่วไป ลักษณะความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้ชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 17 คน ไปบางส่วน และในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยก็ได้ชดใช้เงินช่วยบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอีกจำนวน 17 คน ไปแล้วบางส่วน ทั้งจำเลยยังได้วางเงินอีกบางส่วนต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ผู้เสียหายที่เหลืออีก 3 คน มารับไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด จึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้ลงโทษสถานเบาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3275-3276/2554
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มาตรา 30 วรรคหนึ่ง , 82)
               การกระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 คดีนี้แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนในข้อ (ก.) บรรยายว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย แต่ฟ้องของโจทก์ข้อ (ข.) ที่ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสองและประชาชนทั่วไป ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานยังต่างประเทศและสามารถหางานในประเทศมาเลเซียให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองไปทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้างได้ โดยจะได้รับค่าจ้างวันละ 40 ถึง 45 ดอลลาร์มาเลเซีย มีสวัสดิการดี ถ้าประสงค์จะไปทำ งานให้สมัครงานและเสียค่าใช้จ่ายคนละ 40,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสี่ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถจัดหางานในประเทศมาเลเซียให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสิบสองโดยชอบและถูกต้องได้นั้น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสอง คงมีเจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 82 แม้จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานนี้ได้
                การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปกับโจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคนหางานว่า จำเลยทั้งสี่สามารถหางานในต่างประเทศให้ได้ จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายดังกล่าวหลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสี่ไป โดยที่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น ลักษณะของความผิดเป็นการหลอกลวงคนหมู่มาก โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ทำให้ได้รับความเดือนร้อนและทุกข์ยาก ซึ่งเป็นการกระทำซ้ำเติมต่อประชาชนผู้ซึ่งยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดจึงเป็นภัยต่อสังคมและเป็นเรื่องร้ายแรง การที่จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดที่กระทำก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็ลงโทษเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ด้วยการลงโทษในระวางโทษขั้นตํ่าและลดโทษในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดให้แล้ว ทั้งพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ปรากฏเหตุอื่นถึงขนาดที่จะยกมาเป็นเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจต้องกันให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่โดยไม่รอการลงโทษไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย



คำพิพากษาฎีกาที่ 4191/2552
ป.อ. ฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน (มาตรา 341, 343)
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มาตรา 4, 30, 31, 91 ตรี)
              มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ขออนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกับมาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “จัดหางาน” หมายความว่าประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนงานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น การที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางานก่อน คดีนี้จำ เลยทั้งสองเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนสำนักงานจัดหางานใด ๆ และไม่เป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ
               ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองนอกจากจะไม่ต้องด้วยคำจำกัดความของคำว่า “จัดหางาน” แล้ว ยังไม่ได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่คนหางานหรือจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างอย่างจริงจัง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองอ้างเอาเรื่องการจัดหางานขึ้นมาเป็นเหตุหลอกลวงเอาเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือ 343 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 30 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1869/2549
ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี
               การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดซึ่งเป็นคนหางานว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานที่ต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปดได้ จนเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งแปดรวมจำนวน 236,000 บาท โดยความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยทุจริตที่อาศัยโอกาสจากความต้องการหางานทำในต่างประเทศของผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในสังคมมาเป็นช่องทางในการกระทำความผิด เป็นการกระทำซ้ำเติมต่อบุคคลดังกล่าวให้ได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ยากมากยิ่งขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จะรับฟังได้ตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปดจนเป็นที่พอใจและผู้เสียหายทั้งแปดไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาแก่จำเลยอีกต่อไป ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและบันทึกการเจรจาและชดใช้ค่าเสียหายแนบท้ายฎีกาก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ผู้เสียหายทั้งแปดมีสิทธิได้รับการชดใช้ความเสียหายในทางแพ่งจากจำเลยอยู่แล้ว ไม่ถือเป็นเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย คงเป็นเพียงเหตุที่จะพิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบาเท่านั้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้เบากว่านั้นได้ ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ไม่เป็นเหตุที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
               อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายทั้งแปดได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไปตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ถือได้ว่าผู้เสียหายทั้งแปดและจำเลยยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งแปดตกไปด้วย ทั้งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งแปดแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งแปดได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  474/2542
ป.อ. มาตรา 90, 343
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน มาตรา 30, 82, 91 ตรี
               คำฟ้องตอนแรกบรรยายว่า จำเลยกับพวกจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานที่ดินแดนไต้หวัน และประเทศเกาหลี โดยเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนการจัดหางานจากคนหางานและผู้เสียหายทั้งเจ็ด โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่า จำเลยกับพวกโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนโดยแจ้งว่า จำเลยกับพวกได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศและสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานในโรงงานในดินแดนไต้หวันและประเทศเกาหลีได้โดยมีงานรออยู่ที่ดินแดนและประเทศดังกล่าวแล้ว และผู้ไปทำจะได้รับเงินเดือนเป็นค่าจ้างสูง ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง อีกทั้งจำเลยกับพวกไม่สามารถที่จะส่งผู้ใดไปทำงานในต่างประเทศดังกล่าวได้ และทั้งไม่มีงานรออยู่ที่ดินแดนและประเทศดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง , 82
             ส่วนความผิดตามมาตรา 91 ตรี นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี บัญญัติว่า"ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" จากข้อเท็จจริงที่ฟังยุติดังกล่าวข้างต้นการที่จำเลยกับพวกหลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าจำเลยกับพวกสามารถหางานให้แก่คนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดและส่งคนหางานทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปทำงานที่ดินแดน ไต้หวัน และประเทศเกาหลี ได้ โดยผู้ที่จะไปทำงานที่ประเทศเกาหลีจะต้องเสียเงินค่าบริการจัดการให้แก่จำเลยกับพวกคนละ 80,000 บาท และที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้มอบเงินคนละ 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกไปก็เพราะผู้เสียหายทั้งเจ็ดเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวงนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี และเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก