วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ใช้ชื่อผู้อื่นเช่าซื้อทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2556
ป.อ. มาตรา 352          
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับมอบโทรทัศน์สี 1 เครื่อง ราคา 30,900 บาท ของบริษัท ด. จำกัด ผู้เสียหายไว้ในครอบครองของจำเลย โดยมี นาง ส. และนาง น. เป็นผู้ค้ำประกัน ภายหลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเพียง 2 งวด แล้วผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด ติดต่อกัน นาย ฤ. พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายจึงไปที่บ้านของนาง ส. พบนาง ส. และจำเลย ซึ่งเป็นลูกจ้างอยู่บ้านเดียวกับ นาง ส. พยานสอบถามถึงโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไปว่ายังอยู่หรือไม่ นาง ส. ตอบว่าจำเลยได้นำโทรทัศน์สีไปขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ขณะนั้นจำเลยอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย พยานจึงจัดทำบันทึกการตรวจสอบให้ นาง ส. ลงลายมือชื่อ เนื่องจากจำเลยทำงานไม่ว่างลงลายมือชื่อ
               จำเลยนำสืบต่อสู้โดยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า นาง ส. เป็นนายจ้างและเป็นผู้เช่าซื้อและนำสินค้าไปใช้ โดยให้จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อแทน นาง ส. เป็นผู้รับมอบโทรทัศน์สีและเป็นผู้ครอบครอง ทั้งเป็นผู้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด จำเลยไม่ได้เช่าซื้อและไม่ได้เป็นผู้ผ่อนชำระ เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อผ่านไป 3 เดือน นาง ส. นำโทรทัศน์สีไปจำหน่าย จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อเพราะนาง ส. ขอร้อง โดยนาง ส. ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน
               พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนาย ฤ. แสดงให้เห็นว่านาย ฤ. สนใจติดต่อกับนาง ส.โดยตรง โดยไม่สนใจติดต่อกับจำเลยซึ่งลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อเลย จึงเจือสมข้อเท็จจริงตาม ทางนำสืบของจำเลยที่ว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อแทนนาง ส. เชื่อได้ว่านาง ส. เป็นผู้เช่าซื้อและเป็นผู้รับมอบโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไปไว้ที่บ้านของนาง ส. ดังเห็นได้จากเมื่อมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ นาย ฤ. ตรงไปที่บ้านของนาง ส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสอบถามถึงโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไป ทั้งให้นาง ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจสอบ โดยไม่ได้ให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ด้วย ไม่สมกับที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อทั้งที่ขณะนั้นจำเลยก็อยู่ในบ้านของนาง ส. เช่นนี้ แม้จำเลยได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อก็ตาม พฤติการณ์ก็เชื่อได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อแทนนาง ส. ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยและจำเลยไม่ได้เป็นผู้ครอบครองโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9532 / 2554
ป.อ. มาตรา  352
              โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อพร้อมกระบะดั๊ม จำนวน 2 คัน จากบริษัท ร. จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ ในราคาเช่าซื้อคันละ 1,549,000 บาท เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีพยานเบิกความว่าโจทก์เป็นผู้ออกเงินมัดจำและค่าประกันภัยรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันรวมเป็นเงิน 260,000 บาท สอดคล้องต้องกันตรงกับข้อความในสัญญาเช่าซื้อจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่อ้างว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเป็นของจำเลยแต่ให้โจทก์ดำเนินการแทนและอ้างว่าได้มอบเงินสดเป็นค่ามัดจำและค่าประกันภัยจำนวน 260,000 บาท ให้โจทก์ต่อหน้านาย อ. นั้น จำเลยก็เพียงเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานที่มาของเงินหรือมีหลักฐานการรับจ่ายเงินมาแสดงต่อศาล และก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเป็นของตนเองจริง โดยเป็นผู้ออกเงินมัดจำกับค่าประกันภัยรถแล้ว เหตุใดจำเลยจึงไม่เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อด้วยตนเอง หรือมิฉะนั้นก็ให้น้องชายดำเนินการแทน แต่กลับให้โจทก์ออกหน้าเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ พยานหลักฐานจำเลยเป็นพิรุธน่าสงสัย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์
               โจทก์เช่าซื้อรถแล้วนำมาให้จำเลยครอบครองใช้ประโยชน์โดยนำไปร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. รับจ้างขนดิน โดยตกลงให้จำเลยนำเงินค่าจ้างที่ได้มาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือ วิธีนี้นอกจากจะทำให้โจทก์ให้ประโยชน์ตอบแทนแก่จำเลย โดยจำเลยจะได้ค่าจ้างจากการนำรถมารับจ้างขนดินร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มาผ่อนค่าเช่าซื้อและยังมีเงินกำไรเหลือแล้วยังอาจจะเป็นประกันด้วยว่า จำเลยจะได้ช่วยเหลือให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้งานจากบริษัท อ. จำกัด ต่อไป เนื่องจากการทำให้จำเลยได้ประโยชน์ด้วย จึงนับว่าสมเหตุสมผล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันจากบริษัท ร. โดยเป็นผู้ชำระเงินค่ามัดจำและค่าประกันภัย
             ส่วนเรื่องที่นาย อ. เบิกความว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะผ่อนค่าเช่าซื้อและผ่อนค่ามัดจำและค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ กับพฤติการณ์ที่จำเลยให้เงินแก่โจทก์ 50,000 บาท เป็นค่าดำเนินการในวันทำสัญญานั้น ก็เห็นว่าเป็นการที่จำเลยจะทำเพื่อจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันมาให้จำเลยให้หาประโยชน์ แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยรับมอบการครอบครองรถไปจากโจทก์แล้ว แม้จะฟังตามข้ออ้างของจำเลยว่านาย ส. หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. รับเงินค่าจ้างมาแล้วไม่จ่ายให้โจทก์และจำเลย ทำให้จำเลยต้องนำรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันไปทำงานที่อื่นและไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่ผู้ให้เช่าซื้อ จนเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญากับโจทก์และต่อมาได้ฟ้องให้โจทก์คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อกับให้ใช้ค่าเสียหาย และแม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อจะยังเป็นของบริษัท ร. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่โจทก์ผู้เช่าซื้อมีสิทธิตามสัญญาที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อ
              แม้โจทก์จะส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถแทนโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีผลถึงหน้าที่และความรับผิดที่โจทก์มีต่อผู้ให้เช่าซื้อ และโจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อในกรณีที่มีเหตุต้องคืน ทั้งยังต้องรับผิดชดใช้ราคารถกับค่าเสียหายกรณีที่ไม่สามารถติดตามรถคืนมาได้ การที่จำเลยเบียดบังนำรถยนต์บรรทุกที่โจทก์เช่าซื้อไปไว้ที่อื่นเพื่อหลบเลี่ยงมิให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถคืนได้ก็ดีหรือนำไปขายต่อก็ดี ทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อในทางแพ่ง แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่จะเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก มิใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2716/2554
ป.อ. มาตรา 352
            การที่นาง อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่นาง อ. ทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้ โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างนาง อ. กับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากนาง อ. แล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเองด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. เรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกัน ต่อมา จำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้นาย ช. โดยทำความตกลงกับนาย ช. ให้นาย ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป ภายหลังจากนั้นจำเลยติดต่อกับนาย ช. ไม่ได้ ทั้งจำเลยและนาย ช. ต่างก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6  ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาไปยังนาง อ. นาง อ.ไปสอบถามจำเลย จำเลยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง นาง อ.แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ ผู้ให้เช่าซื้อให้นาง อ.ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเอง แต่ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องคดีแพ่งบังคับให้นาง อ.รับผิดตามสัญญา
             พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจากนาย ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและนาย ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขาย แต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นาย ช. โดยมีข้อตกลงให้นาย ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
             การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นาย ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก