วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8980/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 120, 121
              โจทก์ร่วมเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาท โดยทำสัญญาเช่าซื้อกับนาย ว. ในราคา 258,000 บาท ในระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ มีผู้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วมและยังไม่นำมาคืน ต่อมาโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกรถ
              จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถจึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์และขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม การมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
              เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ
              การที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย
              แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกหรือหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
              จำเลยยืมรถยนต์พิพาทของโจทก์ร่วมไป ต่อมา จำเลยเป็นผู้พาโจทก์ร่วมและพยานทั้งสามไปติดตามหารถยนต์พิพาท จำเลยบอกว่านำรถยนต์พิพาทไปแลกกับยาเสพติดให้โทษแล้ว หลังจากนั้นจำเลยหลบหนีไป พยานทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียในคดีหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อได้ว่าพยานทั้งสามเบิกความตามที่ได้รู้เห็นมา ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ซึ่งจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยถูกควบคุมตัวซึ่งบันทึกการจับกุมระบุว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับ มิใช่เป็นการมอบตัว ที่จำเลยอ้างว่าเข้ามอบตัวเองจึงไม่อาจรับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยยืมรถยนต์พิพาทของโจทก์ร่วมไปแล้วเบียดบังเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7960/2551
ป.อ. มาตรา 341
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)
              ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัท ต. จำกัด ต่อมา ผู้เสียหายขายดาวน์รถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อแทนในราคา 50,000 บาท จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหายโดยใช้ชื่อในการทำสัญญาว่า นายดลหลี จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวและรับรถยนต์ไปแล้ว
             การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าโดยใช้ชื่อและที่อยู่อันเป็นเท็จในการทำสัญญาซื้อรถยนต์ และขณะทำสัญญาผู้เสียหายขอดูบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากจำเลย แต่จำเลยไม่แสดงให้ผู้เสียหายดูจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ อีกทั้งหลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยก็ไม่มาทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อตามที่ตกลงกันไว้ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกในการหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อประสงค์จะไม่ให้ผู้เสียหายติดตามทวงรถยนต์คืนได้ โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งรถยนต์เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย
               แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
              รถยนต์ที่จำเลยฉ้อโกงไปจากผู้เสียหาย ไม่ใช่รถยนต์ของผู้เสียหาย แต่เป็นรถยนต์ของบริษัท ต. จำกัด ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้เช่าซื้อเท่านั้น ประกอบกับผู้เสียหายชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทดังกล่าวประมาณ 120,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนั้น เพื่อให้การคืนรถยนต์หรือใช้ราคาเป็นไปโดยถูกต้อง จึงให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแก่เจ้าของ