วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผู้เช่าซื้อไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  386/2551
ป.อ. มาตรา 96
ป.วิ.อ. มาตรา 39(6)

               บ. เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จาก ว. ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 36 งวด ระหว่างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยทั้งสองได้รับมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน บ. ติดตามรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคืนมา ปรากฏว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวหายไปรวม 10 รายการ
              แม้ บ.ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว.ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ บ.ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว.ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. บ.ย่อมได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับ ว.เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว
               คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อ บ.รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

หมายเหตุ
           ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ"
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ มีปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีความผิดอันยอมความได้ และเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยแต่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อมีผู้เสียหายคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วมิได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน แต่ต่อมาภายหลังผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเพิ่งรู้และได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ตนเองได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จะถือว่าคดีเฉพาะผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนเท่านั้นที่ขาดอายุความหรือส่งผลทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย โดยมีข้อน่าพิจารณาดังต่อไปนี้
            1. คำวินิจฉัยคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การร้องทุกข์ดังกล่าวอยู่ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ ทั้งๆ ที่คดีนี้ บ. ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจาก ว. ผู้ให้เช่าซื้อให้ร้องทุกข์ คำวินิจฉัยคดีนี้จึงแสดงว่าศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ว่า ว. ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนหนึ่งจะรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดภายใน 3 เดือน หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า บ. ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก่อนแล้ว บ. มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีโจทก์ก็ขาดอายุความอยู่ดี
            2. คำวินิจฉัยคดีนี้ยังคงยืนยันตามหลักการเดิมที่ถือว่า ในคดีความผิดฐานยักยอก ทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองทรัพย์ต่างก็เป็นผู้เสียหายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2530, 5097/2531, 33/2532 และ 4/2533
            3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้เป็นการวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2537 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทได้ยักยอกทรัพย์ของบริษัท โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท แม้โจทก์จะฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก็เป็นอันขาดอายุความ เพราะก่อนหน้านี้ ล. ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เสียหายเช่นกันได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วแต่ ล. ไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ดังกล่าว
            จากคำวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2537 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาวางหลักไว้ว่า กรณีความผิดอันยอมความได้และเป็นการกระทำกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยแต่มีผู้เสียหายหลายคน หากผู้เสียหายคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วมิได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน แม้ต่อมาภายหลังผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเพิ่งรู้และได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ตนเองได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ถือว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ทั้งคดี กล่าวคือ ไม่ใช่เฉพาะคดีในส่วนของผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเท่านั้นที่ขาดอายุความ แต่ยังส่งผลทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย

            4. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2537 และคำพิพากษาที่จัดทำหมายเหตุนี้มีผลเท่ากับว่าในคดีความผิดอันยอมความได้และเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลย แต่มีผู้เสียหายหลายคน การไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายในกำหนดของผู้เสียหายคนหนึ่ง อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายคนอื่นโดยเป็นการตัดสิทธิฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ของผู้เสียหายคนอื่นได้ด้วย แต่คำพิพากษาทั้งสองฉบับไม่ปรากฏรายละเอียดเหตุผลที่ทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้
                4.1 คดีที่จัดทำหมายเหตุนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ และเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยแต่มีผู้เสียหายหลายคน การที่ศาลฎีกาเริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลาที่ผู้เสียหายคนแรกรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป ย่อมสอดคล้องกับการตีความกฎหมายอาญาที่ห้ามตีความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย เพราะหากจะรอเวลาให้ผู้เสียหายคนอื่นแต่ละคนทุกคนรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในการกระทำเดียวกันของจำเลยนั้นเป็นเกณฑ์การพิจารณา อาจถือได้ว่าเป็นการขยายอายุความในการกระทำเดียวกันและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยไปโดยปริยาย ซึ่งหลักการขยายอายุความจะนำมาใช้ในคดีอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ โดยเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4635/2531, 5494/2534 และ 2060/2538
               4.2 แม้ในการกระทำความผิดกรรมเดียว จำเลยอาจถูกฟ้องหลายครั้ง เช่น พนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างยื่นฟ้องคดีในความผิดฐานเดียวกันต่อศาลหรือผู้เสียหายหลายคนต่างยื่นฟ้องคดีในการกระทำความผิดฐานเดียวกันนั้นก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2489 เท่ากับกฎหมายยอมรับให้ผู้เสียหายแต่ละคนใช้สิทธิของตนได้ก็ตาม แต่กรณีความผิดกรรมเดียวแต่มีผู้เสียหายหลายคน หากคดีที่ผู้เสียหายคนหนึ่งหรือพนักงานอัยการฟ้องจำเลยและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยในความผิดกรรมนี้ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ผู้เสียหายคนอื่นๆ หรือพนักงานอัยการจะฟ้องจำเลยในความผิดกรรมเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ ซึ่งหลักการฟ้องซ้ำนี้มาจากภาษาลาตินว่า "Non bis in idem" แปลว่า บุคคลไม่ควรได้รับความเดือดร้อนซ้ำสองสำหรับการกระทำครั้งเดียว (Not twice for the same) (เกียรติขจร วัจนสวัสดิ์) "หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา" (พิมพ์ครั้งที่ 1) พ.ศ.2543 หน้า 22) ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 559/2484, 1853/2530, 6678/2531 และ 7296/2544 การที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้วินิจฉัยว่า เมื่อ บ. ผู้เช่าซื้อรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เท่ากับศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยให้ยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ด้วยเหตุคดีขาดอายุความ ย่อมเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่า เป็นกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีแล้ว จึงถือว่าคดีมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้วตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2524 และ 1533/2548 ดังนั้น คดีที่จัดทำหมายเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อศาลพิพากษาแล้วว่า บ. ผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดคดีขาดอายุความ ว. ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่สามารถนำคดีที่เป็นการกระทำกรรมเดียวกันของจำเลยมาฟ้องใหม่หรือร้องทุกข์ให้พนักงานอัยการฟ้องใหม่ได้อยู่ดี เนื่องจากเป็นฟ้องซ้ำหรือหากเป็นกรณีที่ทั้ง ว. ผู้ให้เช่าซื้อและ บ. ผู้เช่าซื้อต่างใช้สิทธิฟ้องคดีด้วยตนเองแยกต่างหากจากกันเป็นคนละคดี เมื่อศาลพิพากษาว่าคดีในส่วนของ บ. ผู้เช่าซื้อขาดอายุความศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องคดีที่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อฟ้องจำเลยในการกระทำกรรมเดียวกันของจำเลยด้วยเนื่องจากเป็นฟ้องซ้ำเช่นเดียวกัน คำวินิจฉัยคดีที่จัดทำหมายเหตุนี้ จึงสอดคล้องกับผลดังกล่าว
               4.3 คดีที่จัดทำหมายเหตุนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์รายการเดียวกันที่เป็นของ ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ แต่อยู่ในความครอบครองของ บ. ผู้เช่าซื้อ จากความเกี่ยวพันร่วมกันระหว่าง ว. กับ บ. และในทรัพย์ที่ถูกยักยอก จึงอาจทำให้ถือเสมือนได้ว่าคดีนี้มีผู้เสียหายคนเดียว ผู้เสียหายคนใดรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นคนแรกก็จะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนด หากไม่ดำเนินการก็เป็นอันขาดอายุความ โดยมีความเห็นทางตำราของ ดร.เกียรติขจร วัจนสวัสดิ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปได้ว่า "ความผิดอันยอมความได้ บางกรณีอาจมีผู้เสียหายหลายคน เช่น คดียักยอก ซึ่งผู้จัดการนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2520 และ 3085/2537 กรณีเช่นนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นแต่ละคนย่อมเป็นผู้เสียหาย หากผู้เสียหายคนใดรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นคนแรกก็จะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีนั้นภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องนั้น หากไม่ดำเนินการก็เป็นอันขาดอายุความ แม้ผู้เสียหายคนอื่นจะรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดภายหลัง และดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีนั้นภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ตนรู้นั้นก็ไม่มีผลแต่อย่างใด กรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนเช่นนี้ ก็ถือเสมือนมีผู้เสียหายคนเดียว ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนดก็เป็นอันขาดอายุความ" (เกียรติขจร วัจนสวัสดิ์ "กฎหมายอาญา ภาค 1" (พิมพ์ครั้งที่ 9 (แก้ไขเพิ่มเติม)) พ.ศ.2549 หน้า 924 - 925)
                4.4 เหตุผลที่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในคดีอาญา นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้ล่วงเลยไปนาน ฯลฯ (จิตติ ติงศภัทิย์ "กฎหมายอาญา ภาค 1" (พิมพ์ครั้งที่ 10) พ.ศ.2546 หน้า 1270 - 1272) แล้ว ในส่วนของอายุความในคดีความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 นั้น ยังเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะให้คดีประเภทนี้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว จึงกำหนดให้มีการร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2504 ดังนั้นการที่ศาลฎีกาเริ่มนับอายุความนับแต่ระยะเวลาที่ผู้เสียหายคนแรกรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป ย่อมสอดคล้องกับหลักการดังกล่าวโดยไม่ต้องรอเวลาให้ผู้เสียหายคนอื่นๆ ทุกคนรู้เป็นเกณฑ์พิจารณา
                4.5 สำหรับคดีนี้ถึงแม้ว่า ว. ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองได้แต่ก็ยังมีทางเยียวยาแก้ไขได้โดยอาจใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งแก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป
            5. ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934 - 5935/2533 วินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 หมายความว่า ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วถอนฟ้องคดีนั้นไปจากศาล ย่อมตัดสิทธิผู้เสียหายคนนั้นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกเท่านั้น หาได้ตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกไม่ เพราะสิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่ตนเป็นผู้เสียหายย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคน ทั้งมาตรานี้มิได้บัญญัติตัดสิทธิผู้เสียหายแต่ละคนในกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่มิได้ถอนฟ้องจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ได้
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2543 วินิจฉัยว่า แม้โจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่ประสงค์จะเอาความผิดแก่จำเลย และภายหลังโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ถอนคำร้องทุกข์จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง แต่โจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ร่วมเจรจาตกลงกับจำเลยด้วย และโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้แถลงว่าไม่ประสงค์จะเอาความผิดแก่จำเลยฐานฉ้อโกง และมิได้ถอนคำร้องทุกข์จำเลย ดังนั้น สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญาตามความผิดฐานฉ้อโกงมาฟ้องจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
              คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นกรณีการกระทำความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลย แต่มีผู้เสียหายหลายคนเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ต่างกันตรงที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934 - 5935/2533 เป็นคดีอาญาแผ่นดินไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ แต่คำพิพากศาลฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้วินิจฉัยไปในทำนองว่า สิทธิในการดำเนินคดีอาญาย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคน การที่ตอนแรกผู้เสียหายคนหนึ่งใช้สิทธิดำเนินคดีโดยฟ้องหรือร้องทุกข์ แต่ต่อมาไม่ใช้สิทธิดำเนินคดีโดยถอนฟ้องหรือถอนคำร้องทุกข์ ย่อมไม่ส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายอื่น โดยจะเห็นได้จากผลของการที่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934 - 5935/2533 คนหนึ่งได้ฟ้องคดีแล้วต่อมาถอนฟ้องคดีไปจากศาล แต่ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นที่จะฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานเดียวกันนั้นอีก กล่าวคือ เฉพาะคดีในส่วนของผู้เสียหายที่ถอนฟ้องเท่านั้นที่จะฟ้องคดีที่ได้ถอนฟ้องไปแล้วไม่ได้ ไม่ส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้เสียหายคนอื่นที่จะฟ้องคดีใความผิดฐานเดียวกันนั้นอีก หรือผลของการที่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2543 ได้ร้องทุกข์แล้วต่อมาถอนคำร้องทุกข์ไปจากศาล แต่ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ (พนักงานอัยการ) ที่จะนำคดีตามความผิดฐานฉ้อโกงในส่วนของโจทก์ร่วมที่ 2 มาฟ้องจำเลยอีก กล่าวคือ เฉพาะคดีในส่วนของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่ถอนคำร้องทุกข์เท่านั้นที่ถือว่าคดีอาญาระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ไม่ส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป
              ผลของคำพิพากษาดังกล่าวดูเหมือนจะขัดแย้งกับผลที่ได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ ที่วินิจฉัยว่า การไม่ใช้สิทธิร้องทุกข์ภายในกำหนดของผู้เสียหายคนหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะคดีในส่วนของผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเท่านั้นที่ขาดอายุความ แต่ยังส่งผลทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย แต่ผู้เขียนเห็นว่า ถึงแม้ว่าผลที่ได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้จะแตกต่างกับผลที่ได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934 - 5935/2533 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2543 ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว
              5.1 คำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ไม่ได้ระบุข้อความใดที่มีผลลบล้างหลักการเดิมที่ถือว่า สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934 - 5935/2533 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2543 แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้มีเหตุผลพิเศษที่ทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายคนหนึ่งอาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายคนหนึ่งอาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายคนอื่นได้เพราะเข้ากรณีกฎหมายอาญาห้ามตีความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย เนื่องจากตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้อาจเกิดปัญหาเป็นการขยายอายุความไปโดยปริยายได้ ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 4.1
              5.2 การที่ผู้เสียหายคนหนึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934 - 5935/2533 ถอนฟ้อง และการถอนคำร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2543 ผลของการถอนฟ้องและถอนคำร้องทุกข์ทั้งสองกรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ดังนั้น การที่ผู้เสียหายคนหนึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934 - 5935/2533 ถอนฟ้องจึงไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นที่จะฟ้องคดีอาญาในการกระทำความผิดกรรมเดียวกันอีกและการที่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2543 ถอนคำร้องทุกข์จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ (พนักงานอัยการ) ที่จะนำคดีตามความผิดฐานฉ้อโกงในส่วนของโจทก์ร่วมที่ 2 มาฟ้องจำเลยอีก เนื่องจากไม่เป็นฟ้องซ้ำ
                  ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้เป็นกรณีที่แตกต่างกัน โดยถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้วตามที่กล่าวไว้ในข้อ 4.2 ซึ่งเป็นเหตุผลพิเศษอีกประการหนึ่งที่ทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายคนหนึ่งอาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายคนอื่นได้เช่นกัน
               5.3 นอกจากนี้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอาจถูกกระทบกระเทือนได้ด้วยเหตุบางประการทั้งตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ต้องร้องทุกข์สอบสวนไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อน มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้หรือกรณีเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามมาตรา 39 เป็นต้น และตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ผู้ต้องโทษตายตามมาตรา 38 คดีขาดอายุความตามมาตรา 95 ถึง 101 เป็นต้น (จิตติ ติงศภัทิย์ "กฎหมายอาญา ภาค 4" (พิมพ์ครั้งที่ 10) พ.ศ.2546 หน้า 1260 - 1261) ซึ่งในคดีนี้สิทธิของผู้เสียหายแต่ละคนถูกกระทบกระเทือนด้วยเหตุผลคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6)
            6. อย่างไรก็ตามคดีที่จัดทำหมายเหตุนี้ หากปรากฏว่าผู้เสียหายคนแรกที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่ยอมร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแก่จำเลยในลักษณะสมยอมกันเพื่อหวังผลเพียงต้องการตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นมิให้มีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยอีกเท่านั้น จะมีผลอย่างไร เช่น หากจำเลยยักยอกทรัพย์หลายรายการในคราวเดียวกัน โดยยักยอกเงินสด 1,000 บาท ของ ก. รถยนต์ของ ข. และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ของ ค. ในคราวเดียวกัน หาก ก. ซึ่งเป็นผู้เสียหายน้อยที่สุดและเป็นผู้เสียหายคนแรกที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สมรู้กับจำเลยยอมรับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนของตนแล้วไม่ยอมร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน หรือกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ หากปรากฏว่า บ. ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้เสียหายคนแรกที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดสมรู้กับจำเลยยอมรับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนของตนแล้วไม่ยอมร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน อันเป็นการสมยอมกัน ผู้เขียนเห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่บัญญัติให้คดีเป็นอันขาดอายุความ และหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อคดีขาดอายุความนั้น น่าจะต้องปรากฏว่าเป็นกรณีที่ผู้เสียหายคนแรกที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่ยอมร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน อย่างแท้จริง หากปรากฏว่ามีการไม่ยอมร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน อย่างสมยอมกันเป็นการดำเนินคดีโดยไม่สุจริตเพื่อหวังผลเพียงต้องการตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นมิให้สิทธิร้องทุกข์หรือฟ้องคดีได้อีกเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นความผิดอันยอมความได้และเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันก็น่าจะถือไม่ได้ว่าคดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสมยอมดังกล่าวเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และไม่มีผลที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยในความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันนั้นสำหรับผู้เสียหายคนอื่นระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ด้วย โดยเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2547 ซึ่งวินิจฉัยว่า "หลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องอันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริง หากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกันแม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด อันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่" (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9334/2538 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน) ซึ่งกรณีนี้คงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานต่อไป
            “ธนรัตน์ ทั่งทอง”