วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผิดฐานกรรโชก

มาตรา 337  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                   ถ้าความผิดฐานกรรโชก ได้กระทำโดย 
                   (1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ให้ผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
                   (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
                   ผู้กระทำต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1199/2553
ป.อ. มาตรา 80, 337 วรรคแรก
            ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหาย กับบุตร ภรรยา จะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่า เป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหาย ให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เกิดต่อเนื่องจากวันที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย กับภรรยาผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัว กระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน จึงถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ฉะนั้น แม้ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกตรวจค้นจับกุมโดยที่ยังไม่ทันได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหาย จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหาย แต่ระบุชื่อภรรยาผู้เสียหาย ก็หาเป็นสาระสำคัญไม่
          กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติ ภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จำเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม
(*ความเห็นผู้เรียบเรียง - เห็นว่า การใช้สิทธิโดยชอบธรรม ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลนั้นชอบที่จะกระทำตามขั้นตอนวิธีการที่กฎหมายให้สิทธิไว้เท่านั้น แต่ถ้ากระทำนอกเหนือจากกฎหมายให้สิทธิไว้ ย่อมถือว่าไม่ได้ใช้สิทธิโดยชอบธรรม เช่น กล่าวถ้อยคำว่า "...จะเดือดร้อน เพราะอายุยังน้อย" จึงมีนัยยะว่า "ผู้ถูกขู่เข็ญจะอายุสั้น" โดยที่ตนไม่มีสิทธิที่จะกล่าวหรือกระทำตามคำกล่าวแบบนั้น ส่วนที่กฎหมายบัญญัติว่า "จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น" ย่อมหมายถึง มีพฤติการณ์แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าผู้ถูกข่มขืนใจยอมทำตามที่ถูกขู่เข็ญแล้ว แม้ว่ายังไม่ได้ยื่นทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จ ที่เกินกว่าขั้นพยายามไปแล้ว) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889 / 2550
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
             จำเลยใช้อาวุธปืนจ้องมาทางผู้เสียหายและขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงินแก่มารดาจำเลยเพื่อชำระหนี้ ถ้าไม่นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่มารดาจำเลย จำเลยจะฆ่าผู้เสียหายอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายจนผู้เสียหายกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จึงยอมมอบเงินให้มารดาจำเลย ตามที่จำเลยขู่เข็ญ โดยผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้ อันเป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่ง ป.วิ.พ. ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นให้มารดาจำเลย และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด
(*ความเห็นผู้เรียบเรียง - เห็นว่า ในคดีนี้กฎหมายบัญญัติให้จำเลยสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายนำเงินมาชำระหนี้ได้ แต่จำเลยจะไปขู่เข็ญว่าจะฆ่าผู้เสียหายอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นไม่ได้) 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550
             จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง
              ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1484/2549
            จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินจำนวน 5,500 บาท มามอบให้เพื่อเป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และหากไม่นำมาให้ จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนและจำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ คือ ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 ไป ซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงินจำนวน 5,500 บาท ไปให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2542
ป.อ. มาตรา 310, 337, 83, 91
             จำเลยที่ ๒ กับพวกใช้กำลังประทุษร้ายโดยล็อกคอผู้เสียหายทั้งสองให้เข้าไปนั่งในรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เป็นคนขับ แล้วจำเลยที่ ๑ พูดบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ ๑ กับพวกคนละ ๑,๐๐๐ บาท หากไม่ให้จะอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ไม่ได้ ผู้เสียหายทั้งสองเกรงกลัวจึงยอมตามที่จำเลยที่ ๑ ขู่บังคับ และได้มอบเงิน ๕๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๓ ไป
             วันเดียวกัน ผู้เสียหายที่ ๑ โทรศัพท์นัดหมายให้จำเลยที่ ๑ มารับเงินส่วนที่เหลืออีก ๑,๕๐๐ บาท เมื่อจำเลยที่ ๑ มารับเงินจึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ แล้วจำเลยที่ ๑ นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ในวันเดียวกัน
             แม้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะไม่ได้มารับเงินส่วนที่เหลือจากผู้เสียหายทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกันวางแผนและกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่ต้น ทั้งยังร่วมกับจำเลยที่ ๑ นำเงิน ๕๐๐ บาท ที่ผู้เสียหายมอบให้ในวันเกิดเหตุไปใช้ในการรับประทานอาหารกัน
            การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกดังกล่าว ครบองค์ประกอบความผิด โดยร่วมกันเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายทั้งสองให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และกรรโชกผู้เสียหายทั้งสอง และการที่จำเลยทั้งสามกับพวกเอาตัวผู้เสียหายทั้งสองไปหน่วงเหนี่ยวไว้ในรถยนต์โดยเจตนาทำให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่ง เมื่อมีการขู่เรียกเอาเงินโดยเจตนากรรโชกเอาทรัพย์จนผู้เสียหายทั้งสองยินยอมให้เงิน ก็เป็นความผิดฐานกรรโชก อีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกรรม

คำพิพากษาฎีกาที่ 339/2542
              โจทก์และจำเลยทั้งเก้าต่างเป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วยกัน แต่เดิมเมื่อปี ๒๕๓๖ สุขาภิบาลว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.ให้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำในเขตสุขาภิบาล ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว เพราะมีเงื่อนไขว่า ในปีต่อไปหากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.ประมูลงานจากสุขาภิบาลได้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.ก็จะไม่รับเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่ตกลงจ้าง
              ต่อมาปี ๒๕๓๗ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ซึ่งมีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้รับการว่าจ้างในกรณีพิเศษจากนายอำเภอประธานคณะกรรมการสุขาภิบาล ให้ก่อสร้างถนน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.จึงไม่ได้รับงาน ทางคณะกรรมการสุขาภิบาลจะต้องจ่ายเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห.
              การที่จำเลยทั้งเก้าเรียกร้องให้โจทก์จ่ายเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่ตน มิฉะนั้นโจทก์จะถูกร้องเรียนกล่าวหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องโจทก์ก่อสร้างถนนผิดไปจากสัญญา อันเป็นเหตุให้สัญญาดังกล่าวระงับ และโจทก์ต้องถูกขับออกจากกรรมการสุขาภิบาล
              เมื่อปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งเก้าไปโดยกลัวต่อการข่มขู่ของจำเลยทั้งเก้า ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งเก้าใช้สิทธิโดยชอบ เพราะแม้ว่าโจทก์จะมีส่วนบกพร่องในการก่อสร้างถนนอันผิดไปจากสัญญา ก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ว่ากล่าว ส่วนจำเลยทั้งเก้าเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยหวังผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง
             การที่โจทก์ต้องจ่ายเงินให้จำเลยทั้งเก้าโดยกลัวต่อการข่มขู่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นการข่มขืนใจโจทก์ให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5096/2540
 ป.อ. มาตรา 145, 337 วรรคหนึ่ง
           ครั้งแรก จำเลยและ ถ.ไปบ้านผู้เสียหาย  ถ.บอกผู้เสียหายว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยได้ยินคำพูดของ ถ. แต่ก็นิ่งเฉยและมิได้ปฏิเสธ เท่ากับจำเลยต้องการให้ผู้เสียหายเชื่อหรือเข้าใจตามที่ ถ. บอก ทั้งจำเลยได้เรียกเงินจำนวน 2,000 บาท จากผู้เสียหาย มิฉะนั้นจะจับผู้เสียหาย
            หากจำเลยทวงหนี้การพนันชนไก่แทนนาย ถ.จริง จำเลยควรถามค้านผู้เสียหายเกี่ยวกับหนี้การพนันดังกล่าวไว้ เพื่อให้ผู้เสียหายมีโอกาสชี้แจงถึงหนี้การพนันดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยมิได้ถามผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องนี้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานแล้ว
            ส่วนการเรียกรับเงินครั้งที่สอง แม้จำเลยไม่ได้บอกหรืออ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่จำเลยเคยไปหาผู้เสียหายและมีพฤติการณ์แสดงให้ผู้เสียหายเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริง ทั้งผู้เสียหายเคยให้เงินแก่จำเลยเพื่อมิให้ถูกจับมาก่อน การที่จำเลยไปเรียกเงินจากผู้เสียหายอีก โดยขู่ว่าหากไม่ให้จะจับผู้เสียหาย จนผู้เสียหายยอมให้เงินจำนวน 2,000 บาท แก่จำเลยเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น และมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 และ 337

คำพิพากษาฎีกาที่ 2882/2537
ป.อ. มาตรา 337, 80
            ผู้เสียหายที่ ๒ ได้ต่อเติมห้องน้ำที่บ้านของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่นายตรวจอาคาร มีอำนาจหน้าที่ตรวจอาคารตามคำสั่งของสำนักงานเขตพญาไท จำเลยได้ข่มขู่เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายที่ ๒ ถ้าผู้เสียหายไม่ให้จำเลยจะดำเนินคดีในเรื่องต่อเติมอาคารผิดกฎหมายการกระทำของจำเลย จึงเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ ๒ ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญ เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานกรรโชกและกระทำไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล เพราะการที่ผู้เสียหายที่ ๒ เจรจากับจำเลยแล้วขึ้นไปชั้น ๒ โทรศัพท์เรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที แสดงว่าผู้เสียหายที่ ๒ ไม่ยอมให้เงิน เพียงแต่ทำทีเป็นยอมเพื่อวางแผนจับกุมจำเลย หาใช่ยอมให้เงินแก่จำเลยด้วยใจจริงไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดขั้นพยายาม

คำพิพากษาฎีกาที่ 2117/2532
             จำเลยกับพวกร่วมกันมีจดหมายขู่ผู้เสียหายให้นำเงิน ๑ ล้านบาทมอบให้จำเลยกับพวก มิฉะนั้นจะฆ่าผู้เสียหายกับบุตรและภริยาผู้เสียหาย ผู้เสียหายแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจทราบ และได้วางแผนจับกุมโดยให้ผู้เสียหายขับรถไปบริเวณที่จำเลยกับพวกนัดหมายไว้ เมื่อผู้เสียหายขับรถไปถึง พบจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มาติดต่อเพื่อขอรับเงิน จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจที่ติดตามมาจับกุมได้ หลังจากนั้นเกิดการยิงต่อสู้ระหว่างพวกจำเลยกับผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจ เช่นนี้ แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก แต่ก็เป็นเวลาต่อเนื่องและเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่จำเลยร่วมกันกระทำยังไม่ขาดตอน โดยจำเลยกับพวกมีเจตนาร่วมกันมาแต่ต้น ในข้อที่ว่าหากผู้เสียหายไม่ยอมมอบเงินให้ก็จะฆ่าผู้เสียหายเสีย พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดการกระทำความผิดฐานฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้อื่นขึ้นได้ถือได้ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในขอบเขตที่จำเลยกับพวกตกลงร่วมกันจะกระทำมาแต่ต้น จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จึงต้องรับโทษในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย
              จำเลยที่ ๓ ใช้รถจักรยานยนต์ขับขี่ติดตามรถยนต์ของผู้เสียหายเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อรับเงินจากการกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ถือได้ว่ารถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ