วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2551
ป.อ. มาตรา 91
พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง
              พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไปผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”
               ดังนี้ การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว
              ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง คือ 19 กรรม และ 14 กรรมตามลำดับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549
ป.อ. มาตรา 91
               จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 14 คน และประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนว่า จำเลยทั้งสองรับกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปโดยไม่จำกัดบุคคลและวงเงิน ด้วยการรับเข้าร่วมลงทุนในลักษณะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 15 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่รับกู้ยืมซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้
                ความจริงจำเลยทั้งสองไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ และรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีเจตนาทุจริตที่จะไม่คืนเงินคืนแก่ผู้เสียหายผู้ให้กู้ยืมเงินมาแต่แรก โดยการนำเงินที่ได้จากการหลอกหลวงผู้ให้กู้ยืมออกหมุนเวียนจ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมรายนั้นเอง หรือรายอื่นบางรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าการให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินในลักษณะที่เป็นการร่วมลงทุนนั้นได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงและพากันนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม เมื่อได้เงินมากพอ จำเลยทั้งสองก็จะร่วมกันเอาเงินดังกล่าวหลบหนีไปและโดยการร่วมกันหลอกลวงของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คน ต่างหลงเชื่อและให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินไปซึ่งในที่สุดผู้เสียหายทั้งสิบสี่คนก็ไม่ได้รับเงินต้นคืน ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่คนเสียหาย
              การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็น ที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้ เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย

ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8980/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 120, 121
              โจทก์ร่วมเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาท โดยทำสัญญาเช่าซื้อกับนาย ว. ในราคา 258,000 บาท ในระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ มีผู้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วมและยังไม่นำมาคืน ต่อมาโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกรถ
              จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถจึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์และขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม การมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
              เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ
              การที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย
              แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกหรือหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
              จำเลยยืมรถยนต์พิพาทของโจทก์ร่วมไป ต่อมา จำเลยเป็นผู้พาโจทก์ร่วมและพยานทั้งสามไปติดตามหารถยนต์พิพาท จำเลยบอกว่านำรถยนต์พิพาทไปแลกกับยาเสพติดให้โทษแล้ว หลังจากนั้นจำเลยหลบหนีไป พยานทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียในคดีหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อได้ว่าพยานทั้งสามเบิกความตามที่ได้รู้เห็นมา ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ซึ่งจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยถูกควบคุมตัวซึ่งบันทึกการจับกุมระบุว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับ มิใช่เป็นการมอบตัว ที่จำเลยอ้างว่าเข้ามอบตัวเองจึงไม่อาจรับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยยืมรถยนต์พิพาทของโจทก์ร่วมไปแล้วเบียดบังเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7960/2551
ป.อ. มาตรา 341
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)
              ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัท ต. จำกัด ต่อมา ผู้เสียหายขายดาวน์รถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อแทนในราคา 50,000 บาท จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหายโดยใช้ชื่อในการทำสัญญาว่า นายดลหลี จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวและรับรถยนต์ไปแล้ว
             การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าโดยใช้ชื่อและที่อยู่อันเป็นเท็จในการทำสัญญาซื้อรถยนต์ และขณะทำสัญญาผู้เสียหายขอดูบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากจำเลย แต่จำเลยไม่แสดงให้ผู้เสียหายดูจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ อีกทั้งหลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยก็ไม่มาทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อตามที่ตกลงกันไว้ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกในการหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อประสงค์จะไม่ให้ผู้เสียหายติดตามทวงรถยนต์คืนได้ โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งรถยนต์เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย
               แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
              รถยนต์ที่จำเลยฉ้อโกงไปจากผู้เสียหาย ไม่ใช่รถยนต์ของผู้เสียหาย แต่เป็นรถยนต์ของบริษัท ต. จำกัด ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้เช่าซื้อเท่านั้น ประกอบกับผู้เสียหายชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทดังกล่าวประมาณ 120,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนั้น เพื่อให้การคืนรถยนต์หรือใช้ราคาเป็นไปโดยถูกต้อง จึงให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแก่เจ้าของ

ผู้เช่าซื้อไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  386/2551
ป.อ. มาตรา 96
ป.วิ.อ. มาตรา 39(6)

               บ. เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จาก ว. ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 36 งวด ระหว่างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยทั้งสองได้รับมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน บ. ติดตามรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคืนมา ปรากฏว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวหายไปรวม 10 รายการ
              แม้ บ.ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว.ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ บ.ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว.ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. บ.ย่อมได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับ ว.เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว
               คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อ บ.รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

หมายเหตุ
           ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ"
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ มีปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีความผิดอันยอมความได้ และเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยแต่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อมีผู้เสียหายคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วมิได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน แต่ต่อมาภายหลังผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเพิ่งรู้และได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ตนเองได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จะถือว่าคดีเฉพาะผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนเท่านั้นที่ขาดอายุความหรือส่งผลทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย โดยมีข้อน่าพิจารณาดังต่อไปนี้
            1. คำวินิจฉัยคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การร้องทุกข์ดังกล่าวอยู่ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ ทั้งๆ ที่คดีนี้ บ. ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจาก ว. ผู้ให้เช่าซื้อให้ร้องทุกข์ คำวินิจฉัยคดีนี้จึงแสดงว่าศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ว่า ว. ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนหนึ่งจะรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดภายใน 3 เดือน หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า บ. ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก่อนแล้ว บ. มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีโจทก์ก็ขาดอายุความอยู่ดี
            2. คำวินิจฉัยคดีนี้ยังคงยืนยันตามหลักการเดิมที่ถือว่า ในคดีความผิดฐานยักยอก ทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองทรัพย์ต่างก็เป็นผู้เสียหายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2530, 5097/2531, 33/2532 และ 4/2533
            3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้เป็นการวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2537 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทได้ยักยอกทรัพย์ของบริษัท โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท แม้โจทก์จะฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก็เป็นอันขาดอายุความ เพราะก่อนหน้านี้ ล. ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เสียหายเช่นกันได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วแต่ ล. ไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ดังกล่าว
            จากคำวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2537 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่จัดทำหมายเหตุนี้ แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาวางหลักไว้ว่า กรณีความผิดอันยอมความได้และเป็นการกระทำกรรมเดียวและความผิดฐานเดียวกันของจำเลยแต่มีผู้เสียหายหลายคน หากผู้เสียหายคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วมิได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน แม้ต่อมาภายหลังผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเพิ่งรู้และได้ฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ตนเองได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ถือว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ทั้งคดี กล่าวคือ ไม่ใช่เฉพาะคดีในส่วนของผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเท่านั้นที่ขาดอายุความ แต่ยังส่งผลทำให้คดีในส่วนของผู้เสียหายคนอื่นขาดอายุความไปด้วย

ใช้ชื่อผู้อื่นเช่าซื้อทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2556
ป.อ. มาตรา 352          
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับมอบโทรทัศน์สี 1 เครื่อง ราคา 30,900 บาท ของบริษัท ด. จำกัด ผู้เสียหายไว้ในครอบครองของจำเลย โดยมี นาง ส. และนาง น. เป็นผู้ค้ำประกัน ภายหลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเพียง 2 งวด แล้วผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด ติดต่อกัน นาย ฤ. พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายจึงไปที่บ้านของนาง ส. พบนาง ส. และจำเลย ซึ่งเป็นลูกจ้างอยู่บ้านเดียวกับ นาง ส. พยานสอบถามถึงโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไปว่ายังอยู่หรือไม่ นาง ส. ตอบว่าจำเลยได้นำโทรทัศน์สีไปขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ขณะนั้นจำเลยอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย พยานจึงจัดทำบันทึกการตรวจสอบให้ นาง ส. ลงลายมือชื่อ เนื่องจากจำเลยทำงานไม่ว่างลงลายมือชื่อ
               จำเลยนำสืบต่อสู้โดยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า นาง ส. เป็นนายจ้างและเป็นผู้เช่าซื้อและนำสินค้าไปใช้ โดยให้จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อแทน นาง ส. เป็นผู้รับมอบโทรทัศน์สีและเป็นผู้ครอบครอง ทั้งเป็นผู้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด จำเลยไม่ได้เช่าซื้อและไม่ได้เป็นผู้ผ่อนชำระ เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อผ่านไป 3 เดือน นาง ส. นำโทรทัศน์สีไปจำหน่าย จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อเพราะนาง ส. ขอร้อง โดยนาง ส. ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน
               พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนาย ฤ. แสดงให้เห็นว่านาย ฤ. สนใจติดต่อกับนาง ส.โดยตรง โดยไม่สนใจติดต่อกับจำเลยซึ่งลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อเลย จึงเจือสมข้อเท็จจริงตาม ทางนำสืบของจำเลยที่ว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อแทนนาง ส. เชื่อได้ว่านาง ส. เป็นผู้เช่าซื้อและเป็นผู้รับมอบโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไปไว้ที่บ้านของนาง ส. ดังเห็นได้จากเมื่อมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ นาย ฤ. ตรงไปที่บ้านของนาง ส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสอบถามถึงโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อไป ทั้งให้นาง ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจสอบ โดยไม่ได้ให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ด้วย ไม่สมกับที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อทั้งที่ขณะนั้นจำเลยก็อยู่ในบ้านของนาง ส. เช่นนี้ แม้จำเลยได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อก็ตาม พฤติการณ์ก็เชื่อได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อแทนนาง ส. ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยและจำเลยไม่ได้เป็นผู้ครอบครองโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9532 / 2554
ป.อ. มาตรา  352
              โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อพร้อมกระบะดั๊ม จำนวน 2 คัน จากบริษัท ร. จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ ในราคาเช่าซื้อคันละ 1,549,000 บาท เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีพยานเบิกความว่าโจทก์เป็นผู้ออกเงินมัดจำและค่าประกันภัยรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันรวมเป็นเงิน 260,000 บาท สอดคล้องต้องกันตรงกับข้อความในสัญญาเช่าซื้อจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่อ้างว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเป็นของจำเลยแต่ให้โจทก์ดำเนินการแทนและอ้างว่าได้มอบเงินสดเป็นค่ามัดจำและค่าประกันภัยจำนวน 260,000 บาท ให้โจทก์ต่อหน้านาย อ. นั้น จำเลยก็เพียงเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานที่มาของเงินหรือมีหลักฐานการรับจ่ายเงินมาแสดงต่อศาล และก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเป็นของตนเองจริง โดยเป็นผู้ออกเงินมัดจำกับค่าประกันภัยรถแล้ว เหตุใดจำเลยจึงไม่เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อด้วยตนเอง หรือมิฉะนั้นก็ให้น้องชายดำเนินการแทน แต่กลับให้โจทก์ออกหน้าเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ พยานหลักฐานจำเลยเป็นพิรุธน่าสงสัย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์
               โจทก์เช่าซื้อรถแล้วนำมาให้จำเลยครอบครองใช้ประโยชน์โดยนำไปร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. รับจ้างขนดิน โดยตกลงให้จำเลยนำเงินค่าจ้างที่ได้มาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือ วิธีนี้นอกจากจะทำให้โจทก์ให้ประโยชน์ตอบแทนแก่จำเลย โดยจำเลยจะได้ค่าจ้างจากการนำรถมารับจ้างขนดินร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มาผ่อนค่าเช่าซื้อและยังมีเงินกำไรเหลือแล้วยังอาจจะเป็นประกันด้วยว่า จำเลยจะได้ช่วยเหลือให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้งานจากบริษัท อ. จำกัด ต่อไป เนื่องจากการทำให้จำเลยได้ประโยชน์ด้วย จึงนับว่าสมเหตุสมผล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันจากบริษัท ร. โดยเป็นผู้ชำระเงินค่ามัดจำและค่าประกันภัย
             ส่วนเรื่องที่นาย อ. เบิกความว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะผ่อนค่าเช่าซื้อและผ่อนค่ามัดจำและค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ กับพฤติการณ์ที่จำเลยให้เงินแก่โจทก์ 50,000 บาท เป็นค่าดำเนินการในวันทำสัญญานั้น ก็เห็นว่าเป็นการที่จำเลยจะทำเพื่อจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันมาให้จำเลยให้หาประโยชน์ แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยรับมอบการครอบครองรถไปจากโจทก์แล้ว แม้จะฟังตามข้ออ้างของจำเลยว่านาย ส. หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. รับเงินค่าจ้างมาแล้วไม่จ่ายให้โจทก์และจำเลย ทำให้จำเลยต้องนำรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันไปทำงานที่อื่นและไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่ผู้ให้เช่าซื้อ จนเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญากับโจทก์และต่อมาได้ฟ้องให้โจทก์คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อกับให้ใช้ค่าเสียหาย และแม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อจะยังเป็นของบริษัท ร. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่โจทก์ผู้เช่าซื้อมีสิทธิตามสัญญาที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อ
              แม้โจทก์จะส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถแทนโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีผลถึงหน้าที่และความรับผิดที่โจทก์มีต่อผู้ให้เช่าซื้อ และโจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อในกรณีที่มีเหตุต้องคืน ทั้งยังต้องรับผิดชดใช้ราคารถกับค่าเสียหายกรณีที่ไม่สามารถติดตามรถคืนมาได้ การที่จำเลยเบียดบังนำรถยนต์บรรทุกที่โจทก์เช่าซื้อไปไว้ที่อื่นเพื่อหลบเลี่ยงมิให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถคืนได้ก็ดีหรือนำไปขายต่อก็ดี ทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อในทางแพ่ง แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่จะเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก มิใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2716/2554
ป.อ. มาตรา 352
            การที่นาง อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่นาง อ. ทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้ โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างนาง อ. กับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากนาง อ. แล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเองด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของนาง อ. เรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกัน ต่อมา จำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้นาย ช. โดยทำความตกลงกับนาย ช. ให้นาย ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป ภายหลังจากนั้นจำเลยติดต่อกับนาย ช. ไม่ได้ ทั้งจำเลยและนาย ช. ต่างก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6  ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาไปยังนาง อ. นาง อ.ไปสอบถามจำเลย จำเลยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง นาง อ.แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ ผู้ให้เช่าซื้อให้นาง อ.ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเอง แต่ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องคดีแพ่งบังคับให้นาง อ.รับผิดตามสัญญา
             พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจากนาย ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและนาย ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขาย แต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นาย ช. โดยมีข้อตกลงให้นาย ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
             การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นาย ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก