วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จัดเรียงบทความ

ลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์

กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์
               -  ผิดฐานกรรโชก
               -  ชิงทรัพย์
               -  ปล้นทรัพย์

ฉ้อโกง 

โกงเจ้าหนี้ 
               -  โกงเจ้าหนี้

ยักยอก

รับของโจร
               -  เจตนารับของโจร

ทำให้เสียทรัพย์

บุกรุก
               -  บุกรุกอสังหาริมทรัพย์

กรณีเช่าซื้อทรัพย์ ซื้อขายรถ

กรณีที่เกี่ยวข้อง

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สามีร่วมกับผู้อื่นลักทรัพย์ภริยาในเหตุฉกรรจ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3756 - 3757/2550
ป.อ. มาตรา 71 วรรคแรก, 335 (7), 336 ทวิ
              คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์  เรียกนางพัชรี โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ร่วม  เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1  และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า  จำเลยที่ 2
              โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 36,300 บาท แก่ผู้เสียหาย
             จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
             ระหว่างพิจารณานางพัชรี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นอนุญาต
             ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก มาตรา 336 ทวิ
             โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
             ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหาย จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
             โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนฎีกา
              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายตั้งแต่ปี 2520 และขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก ที่บัญญัติว่าความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยาผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะระบุว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ มาด้วย แต่ตามมาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดอาญา มาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากจากบทมาตราดังกล่าวไม่
            การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

ประมวลกฎหมายอาญา
            "มาตรา 71  ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 วรรคแรก และมาตรา 341 ถึงมาตรา 364 นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
              ความผิดดังระบุมานี้ ถ้าเป็นการกระทำ ที่ผู้บุพการีกระทำ ต่อผู้สืบสันดาน ผู้สืบสันดานกระทำต่อผู้บุพการี หรือพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกระทำต่อกัน แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ และนอกจากนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
            "มาตรา 335  ผู้ใดลักทรัพย์
                  (1) ...
                  (7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
             ....    "
            "มาตรา 336 ทวิ  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 334 มาตรา 335 มาตรา 335 ทวิ หรือมาตรา 336 โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง"

ข้อพิจารณา.-
            -  สามีภริยาต้องจดทะเบียนสมรสกันและไม่ได้จดทะเบียนหย่าแม้ว่าจะแยกกันอยู่ก็ตาม จึงจะเข้าหลักเกณฑ์ที่ไม่ต้องรับโทษ
            -  ผู้ที่ร่วมกระทำผิดซึ่งเป็นบุคคลอื่นต้องรับโทษนั้นโดยไม่ได้รับการยกเว้นโทษ แม้ว่าสามีหรือภริยาที่เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดนั้นไม่ต้องรับโทษก็ตาม
            -  แม้ว่ามาตรา 71 วรรคแรก ไม่ได้บัญญัติมาตรา 336 ทวิ เอาไว้ด้วยก็ตาม แต่ถ้าหากเป็นกรณีกระทำความผิดตามมาตรา 336 ทวิ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 (7) นั้นกึ่งหนึ่ง กฎหมายถือว่ามาตรา 336 ทวิ เป็นเพียงบทเพิ่มโทษมาตรา 335 หาใช่ความผิดอีกบทหนึ่งแยกต่างหากจากกัน ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษด้วยเหตุความเป็นสามีภริยากันตามมาตรา 71 วรรคแรก
            -  มาตรา 71 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ แต่ไม่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ดั่งเช่นวรรคสอง ดังนั้น สามีหรือภริยาที่เป็นผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจขอถอนคำร้องทุกข์

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โกงเจ้าหนี้

               มาตรา ๓๔๙  ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               มาตรา ๓๕๐  ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               มาตรา ๓๕๑  ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

คำพิพากษาของศาลฎีกาเลขที่ ๔๓๘๐/๒๕๕๗
ป.อ.  มาตรา ๓๕๐
               จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ๓๕๐,๐๐๐ บาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าหากไม่นำ เงินมาชำระหนี้ภายในกำหนด ๒๐ วัน จะดำเนินการตามกฎหมาย ทันที แสดงว่าโจทก์จะใช้สิทธิทางศาลแล้ว เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้และทราบดีว่าโจทก์จะใช้สิทธิทางศาล การที่จำเลยโอนขายที่ดินพร้อมบ้านซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่เพียงอย่างเดียวให้นาง ฉ.  โดยโจทก์ไม่ทราบเรื่อง ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยโอนขายที่ดิน พร้อมบ้านโดยมีเจตนาเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๓๖๗/๒๕๕๑
ป.อ. มาตรา ๓๕๐
           โจทก์ทราบว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ โอนที่ดินให้ ท.  โจทก์ย่อมมีสิทธิเลือกที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยกับ ท.  หรือฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาก็ได้
           การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ เมื่อจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ ท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๐

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๙๗๓/๒๕๕๑
ป.อ. มาตรา ๓๕๐
            การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ และขอให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงินจำนวน ๑๓๕,๐๐๘,๑๖๓.๙๒ บาท มาด้วย ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต
            ดังนี้ จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงินจำนวน ๑๓๕,๐๐๘,๑๖๓.๙๒ บาท ด้วย เท่ากับว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แล้ว
            ขณะจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒  จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ ๒ ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้น จำเลยที่ ๒ ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่า “ผู้อื่น” ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๐ หมายถึง บุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่ เพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามมาตรา ๓๕๐

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไม่ผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาฎีกาที่ 5483/2543
                โจทก์ทำสัญญาเช่าร้านอาหารพิพาทจากจำเลยที่ ๑ ต่อมา จำเลยที่ ๒ กับชายคนหนึ่งซึ่งพกอาวุธปืนติดตัวได้พากันไปที่ร้านอาหารพิพาทซึ่งมีลูกจ้างโจทก์เฝ้าดูแลอยู่ จำเลยที่ ๒ สั่งลูกจ้างโจทก์ให้ออกจากร้าน มิฉะนั้นจะปิดกุญแจขัง ลูกจ้างโจทก์กลัวจึงยอมออกจากร้าน
                จำเลยที่ ๒ ได้ปิดกุญแจร้านอาหารพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถประกอบกิจการร้านอาหารและไม่สามารถนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของโจทก์ ซึ่งซื้อมาใช้ในการประกอบกิจการออกจากร้านอาหารพิพาทได้ หลังจากนั้นอีก ๓ ถึง ๔ วัน จำเลยที่ ๑ ได้ให้บุคคลอื่นเข้าทำกิจการร้านอาหารพิพาทแทน โจทก์ยังได้นำสืบอีกว่า ไม่เคยค้างชำระค่าเช่าจำเลยที่ ๑
              ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุก ตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔ และ ๓๖๕ จึงมีมูล ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าตามสัญญา จึงไม่ชอบ
              จำเลยที่ ๒ ให้ จ.ออกจากร้านอาหารพิพาทเพื่อปิดร้าน มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5599 / 2531
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337
                ป. เป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่จำเลยขอให้ช่วยสืบหาคนร้ายที่ลักกระบือของตน เมื่อ ป. นัดผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกบ้านให้มาเจรจากับจำเลย ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจว่า ผู้เสียหายเป็นคนร้าย
                การที่จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายเป็นค่ากระบือที่ถูกลักเอาไป เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหาย โดยมี ป. ผู้ใหญ่บ้านฝ่ายผู้เสียหายเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยให้ จนผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยตามที่ ป. พูดไกล่เกลี่ย เป็นการใช้สิทธิของตนโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาฎีกาที่ 2688 / 2530
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337
              จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายได้ลักเอาสติกเกอร์ของห้างซึ่งจำเลยมีหน้าที่ช่วยดูแลกิจการอยู่ไป การที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับให้ห้าง 30 บาท ถ้าไม่ยอมจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงิน 30 บาท เพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการของห้างชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ การที่จำเลยให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับ เท่ากับเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อตกลงเลิกคดีกัน จำเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก

ผิดฐานกรรโชก

มาตรา 337  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                   ถ้าความผิดฐานกรรโชก ได้กระทำโดย 
                   (1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ให้ผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
                   (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
                   ผู้กระทำต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1199/2553
ป.อ. มาตรา 80, 337 วรรคแรก
            ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหาย กับบุตร ภรรยา จะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่า เป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหาย ให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เกิดต่อเนื่องจากวันที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย กับภรรยาผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัว กระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน จึงถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ฉะนั้น แม้ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกตรวจค้นจับกุมโดยที่ยังไม่ทันได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหาย จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหาย แต่ระบุชื่อภรรยาผู้เสียหาย ก็หาเป็นสาระสำคัญไม่
          กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติ ภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จำเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม
(*ความเห็นผู้เรียบเรียง - เห็นว่า การใช้สิทธิโดยชอบธรรม ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลนั้นชอบที่จะกระทำตามขั้นตอนวิธีการที่กฎหมายให้สิทธิไว้เท่านั้น แต่ถ้ากระทำนอกเหนือจากกฎหมายให้สิทธิไว้ ย่อมถือว่าไม่ได้ใช้สิทธิโดยชอบธรรม เช่น กล่าวถ้อยคำว่า "...จะเดือดร้อน เพราะอายุยังน้อย" จึงมีนัยยะว่า "ผู้ถูกขู่เข็ญจะอายุสั้น" โดยที่ตนไม่มีสิทธิที่จะกล่าวหรือกระทำตามคำกล่าวแบบนั้น ส่วนที่กฎหมายบัญญัติว่า "จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น" ย่อมหมายถึง มีพฤติการณ์แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าผู้ถูกข่มขืนใจยอมทำตามที่ถูกขู่เข็ญแล้ว แม้ว่ายังไม่ได้ยื่นทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จ ที่เกินกว่าขั้นพยายามไปแล้ว) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889 / 2550
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
             จำเลยใช้อาวุธปืนจ้องมาทางผู้เสียหายและขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงินแก่มารดาจำเลยเพื่อชำระหนี้ ถ้าไม่นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่มารดาจำเลย จำเลยจะฆ่าผู้เสียหายอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายจนผู้เสียหายกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จึงยอมมอบเงินให้มารดาจำเลย ตามที่จำเลยขู่เข็ญ โดยผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้ อันเป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่ง ป.วิ.พ. ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นให้มารดาจำเลย และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด
(*ความเห็นผู้เรียบเรียง - เห็นว่า ในคดีนี้กฎหมายบัญญัติให้จำเลยสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายนำเงินมาชำระหนี้ได้ แต่จำเลยจะไปขู่เข็ญว่าจะฆ่าผู้เสียหายอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นไม่ได้) 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550
             จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง
              ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1484/2549
            จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินจำนวน 5,500 บาท มามอบให้เพื่อเป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และหากไม่นำมาให้ จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนและจำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ คือ ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 ไป ซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงินจำนวน 5,500 บาท ไปให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337